Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหลื่อมล้ำของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองของผู้สูงอายุในประเทศไทยโดยผ่านตัวแปรดัชนีความมั่งคั่งและความสัมพันธ์ของปัจจัยอื่นๆต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองของผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ขึ้นไป ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลทุติยภูมิจากสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2560 และ 2062 ที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือสถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์การถดถอยโทบิต ซึ่งจะแบ่งการวิเคราะห์เป็น 2 กรณีคือ กรณีผู้ป่วยนอกและกรณีผู้ป่วยใน ผลการวิจัยทั้งในกรณีที่ผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในพบว่าผู้สูงอายุที่มีระดับดัชนีความมั่งคั่งหรือระดับรายได้ที่ต่ำมีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีระดับดัชนีความมั่งคั่งหรือระดับรายได้ที่สูงกว่า แสดงถึงความเหลื่อมล้ำในการเลือกเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่แตกต่างกันตามความสามารถในการจ่ายของผู้สูงอายุ นอกจากนี้การวิเคราะห์ในกรณีผู้ป่วยนอกยังพบว่า จำนวนสมาชิกในครัวเรือนมีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเอง ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ จำนวนโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเอง ผู้สูงอายุที่ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคเบาหวานและความผิดปกติของต่อมไร้ท่อและเมตะบิลิซึมมีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่ในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่มอื่นๆมีผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่มีสิทธิข้าราชการ/ ข้าราชการบำนาญมีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ และผู้สูงอายุที่อยู่ในระดับดัชนีความมั่งคั่งที่ต่ำและมีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีระดับดัชนีความมั่งคั่งที่สูงกว่าและมีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนในกรณีผู้ป่วยในมีผลการศึกษาของตัวแปรจำนวนสมาชิกในครัวเรือน ตัวแปรจำนวนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตัวแปรกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และตัวแปรร่วมระหว่างดัชนีความั่งคังกับประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นเดียวกันกับกรณีผู้ป่วยนอก แต่ยังมีตัวแปรที่มีผลการศึกษาเพิ่มเติมก็คือ ตัวแปรระดับการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่มีระดับการศึกษาก่อนประถมศึกษามีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าปริญญาตรี ตัวแปรสถานะภาพสมรสพบว่าผู้สูงอายุที่แต่งงานแล้วมีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ยังโสด หย่า หม้ายหรือแยกกัน ตัวแปรกลุ่มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังพบว่าผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังของระบบหายใจมีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตัวแปรสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลมีผลเพิ่มเติมจากกรณีผู้ป่วยนอกคือผู้สูงอายุที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเป็นประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอื่น และผู้สูงอายุที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเป็นประกันสังคม/ กองทุนทดแทนมีผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอื่น และจำนวนวันในการเข้าพักในสถานพยาบาลของผู้สูงอายุมีผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเอง แต่การศึกษาครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับตัวแปรดัชนีความมั่งคั่งเพื่อสะท้อนความเหลื่อมล้ำในค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุที่มีดัชนีความมั่งคั่งในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งจากผลการศึกษาที่กล่าวมาแล้วนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายด้วยตนเองขึ้นจริง