Abstract:
สมการทำนายความรู้สึกเชิงความร้อนส่วนใหญ่จะพัฒนาเพื่อใช้กับคนทั่วไป แต่ไม่มีสมการใดที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีสมการทำนายค่าความรู้สึกเชิงความร้อน (Thermal Sensation Vote, TSV) สำหรับผู้สูงอายุไทยเพื่อใช้งานในศูนย์ผู้สูงอายุของรัฐบาลที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเชิงอุณหภาพในอาคารให้น่าสบายและประหยัดพลังงาน ซึ่งงานวิจัยได้ดำเนินการในตัวเมืองพิษณุโลกในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยใช้การศึกษาทั้งภาคสนามและห้องปฏิบัติการ ในภาคสนามได้เก็บข้อมูลจากศูนย์ผู้สูงอายุ 3 แห่ง ในขณะเดียวกันก็ได้นำผู้สูงอายุผลัดเปลี่ยนกันเข้าทดสอบในสภาพแวดล้อมเชิงอุณหภาพที่มีการปรับได้ 144 ลักษณะในห้องปฏิบัติการ โดยให้ผู้สูงอายุได้สวมใส่เสื้อผ้าตามปกติ (ในฤดูหนาวมีค่าความเป็นฉนวนของเสื้อผ้าที่สวมใส่ที่ 0.64 clo ในฤดูร้อนที่ 0.50 clo) และทำกิจกรรมที่มีค่า 65-70 W / m2 การเก็บข้อมูลได้ใช้ระยะเวลา 7 เดือน ทำให้ได้ข้อมูลกลับมาจากศูนย์ผู้สูงอายุ 192 ข้อมูล และจากห้องปฏิบัติการ 8,640 ข้อมูล ข้อมูลนี้ได้ถูกวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อสร้างสมการทำนายค่าความรู้สึกเชิงความร้อนมีผลดังนี้: สมการสำหรับใช้ในฤดูหนาว (ที่ R2 = 0.707) คือ TSVNfieldW = 0.531To –0.767Va +0.011RH –14.489 สมการสำหรับใช้ในฤดูร้อน (ที่ R2 = 0.844) คือ TSVNfieldS = 0.330To –0.496Va +0.007RH –9.646 [เมื่อ TSVNfieldW คือ ค่าความรู้สึกเชิงความร้อนของผู้สูงอายุฤดูหนาว, TSVNfieldS คือ ค่าความรู้สึกเชิงความร้อนของผู้สูงอายุฤดูร้อน, To คือ อุณหภูมิโอเปอเรทีพ (°C), RH คือ ความชื้นสัมพัทธ์ (%), Va คือ ความเร็วลม (m/s)] สมการที่ได้ถูกนำเข้าในโปรแกรม scSTREAM เพื่อจำลองผลค่า TSV ในผู้สูงอายุ ขณะเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการปรับตั้งค่าอุปกรณ์ปรับสภาวะน่าสบาย ผลจากการปรับที่ทำให้ค่า TSV แสดงค่าความรู้สึกว่า “พอดี” จะได้ใช้เป็นมาตรฐานในการพัฒนาศูนย์ผู้สูงอายุซึ่งมีดังนี้ 8.00 น.–13.00 น. ฤดูหนาว และ 8.00 น.-12.00 น. ฤดูร้อนควรใช้การระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติร่วมกับพัดลมเพื่อสร้างความเร็วลมที่ 0.57-0.60 m/s และ 0.64-0.73 m/s ตามลำดับ ส่วน 13.00 น.-16.00 น. ในฤดูหนาว และ 12.00 น. - 16.00 น. ในฤดูร้อน ให้ใช้เครื่องปรับอากาศโดยปรับอุณหภูมิเป็น 26.0 °C และ 26.0-26.5 °C พร้อมปรับให้มีความเร็วลมที่ 0.10-0.26 m/s และ 0.06-0.22 m/s ตามลำดับ เมื่อนำแนวทงไปประเมินด้วย Visual DOE พบว่าจะช่วยประหยัดพลังงานในฤดูหนาวได้ 23 % ฤดูร้อน 16 %