Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาปรากฏการณ์การทําให้เมืองมีชีวิตชีวาด้วยกราฟฟิตี้ในบทบาทของสตรีทอาร์ตภายใต้บริบทไทย ซึ่งภาพลักษณ์ของกราฟฟิตี้ในประเทศไทยยังแสดงถึงความเสื่อมโทรมของชุมชน ขณะเดียวกันกราฟฟิตี้ในบทบาทของสตรีทอาร์ตก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเมือง ทําให้เมืองมีความน่าอยู่ ไม่เสื่อมโทรมเหมือนกราฟฟิตี้ทั่วไป และยังกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับชุมชน ดังนั้นจึงศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูเมืองโดยใช้กราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตเป็นเครื่องมือ วิเคราะห์องค์ประกอบที่มีผลต่อกระบวนการดังกล่าว และศึกษาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนภายในโครงการกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ต โดยเปรียบเทียบความแตกต่างทั้ง 3 กรณีศึกษา ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์มีสามส่วน ได้แก่ ข้อมูลบริบทเชิงพื้นที่ที่ได้จากการทําแผนที่เดินดินจํานวน 3 แห่ง ได้แก่ย่านราชเทวี ย่านสยาม และเมืองภูเก็ต ข้อมูลทัศนคติและการรับรู้ที่มีต่อกราฟฟิตี้ในบทบาทของสตรีทอาร์ตจากการทําแบบสอบถามกับบุคคลทั่วไป จํานวน 572 ตัวอย่าง และรายละเอียดโครงการกราฟฟิตี้ในบทบาทของสตรีทอาร์ตในพื้นที่กรณีศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการกราฟฟิตี้ทั้ง 3 โครงการ ผลการศึกษาทัศนคติและการรับรู้ที่มีต่อกราฟฟิตี้ในบทบาทของสตรีทอาร์ตพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตในระดับที่สามารถแยกแยะได้ และมีทัศนคติเกี่ยวกับกราฟฟิตี้ในบทบาทของสตรีทอาร์ตเป็นไปในทางบวก และผลการศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่าโครงการกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตนั้นมีจุดประสงค์ในการปรับพื้นที่ให้เป็นย่านศิลปะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หรือถ่ายทอดวัฒนธรรมของชุมชนให้แก่ผู้สัญจร โดยเริ่มจากการวางแผนโครงการ การเสนอโครงการให้กับเจ้าของที่ดินเพื่อขอใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรม การติดต่อเชิญศิลปินเข้ามาร่วมโครงการ และการประชาสัมพันธ์ ภายในโครงการได้มีส่วนร่วมกับบุคคลหลายกลุ่มได้แก่ หน่วยงานรัฐบาล องค์กรเอกชน องค์กรไม่แสวงผลกําไร ศิลปินและประชาชน