Abstract:
ชุมชนประวัติศาสตร์ย่านพระอาทิตย์เป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ในด้านคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม ได้แก่ ป้อมพระสุเมรุ วัดชนะสงคราม มัสยิดจักรพงษ์ และสวนสันติชัยปราการ เป็นต้น แต่พื้นที่ชุมชนประวัติศาสตร์ย่านพระอาทิตย์กลับมีการใช้งานที่ไม่เต็มศักยภาพและไม่เป็นอเนกประโยชน์ ทั้งๆ พื้นที่ชุมชนประวัติศาสตร์ควรมีความสมดุลในการสัญจรของคนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง
งานวิจัยชิ้นนี้ ต้องการที่จะศึกษารูปแบบการค้นหาเส้นทางของกลุ่มคนที่เข้ามาใช้งานพื้นที่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ โดยทำการบันทึกรูปแบบการสัญจรในช่วงวันและเวลาต่างๆ ผ่านการบันทึกรูปแบบเส้นทางนิยมสัญจรของคนเดินเท้า จากการสำรวจพบว่า กลุ่มคนทั้ง 2 ประเภท มีรูปแบบการค้นหาเส้นทางที่แตกต่างกันและแยกออกจากกัน กลุ่มคนที่คุ้นเคยกับพื้นที่มีรูปแบบการสัญจรกระจายอย่างทั่วถึง แต่กลุ่มคนที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่กลับมีรูปแบบการสัญจรบนถนนเส้นหลัก และถนนเส้นที่มีร้านค้าขายของสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น
ผลการวิเคราะห์รูปแบบการค้นหาเส้นทางของคนทั้ง 2 กลุ่ม สามารถสรุปได้ว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดรูปแบบการค้นหาเส้นทาง คือ ความเข้าใจและจดจำพื้นที่ (spatial cognition) ประกอบด้วย จุดดึงดูดระดับเมือง และจุดดึงดูดระดับย่าน ส่วนปัจจัยรอง คือ สัณฐานของพื้นที่ (spatial configuration) ประกอบไปด้วย ศักยภาพของการเข้าถึงและมองเห็นพื้นที่ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือนำทาง (wayfinding application) ที่ใช้แผนที่ท่องเที่ยว (tourist map) กล่าวคือ กลุ่มคนที่คุ้นเคยกับพื้นที่ มีแนวโน้มที่จะใช้เพียงแค่ความเข้าใจและจดจำพื้นที่ในการค้นหาเส้นทาง ส่วนกลุ่มคนที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ มีแนวโน้มที่จะใช้ทั้งความเข้าใจและจดจำพื้นที่ สัณฐานของพื้นที่ และเครื่องมือนำทางในการค้นหาเส้นทาง