Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสัดส่วนและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมไทย โดยมีกลุ่มอาคารพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งประกอบไปด้วย พระอุโบสถ พระวิหารทิศ พระระเบียงคดชั้นใน และพระระเบียงคดชั้นนอก เป็นกรณีศึกษา การวิจัยมุ่งถอดรูปแบบความสัมพันธ์หรือฉันทลักษณ์เชิงสัดส่วนที่กำกับการก่อรูปทรงและการปิดล้อมที่ว่างของสถาปัตยกรรม โดยตั้งต้นศึกษาสัดส่วนหน้าจั่วเป็นสำคัญ แล้วจึงลำดับไปยังองค์ประกอบอื่น ๆ ตามกระบวนการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทย
กระบวนการศึกษามุ่งเน้นหาลักษณะร่วมเชิงสัดส่วนของอาคารทั้งสี่หลัง โดยวิเคราะห์ผ่านแบบรังวัดทางสถาปัตยกรรมเป็นหลัก เริ่มจากหน้าจั่ว สู่เครื่องบนหลังคา องค์ประกอบปิดล้อม พื้น ฝาผนัง ฝ้าเพดาน และวิเคราะห์ถอดฉันทลักษณ์ที่กำกับสัดส่วนในทั้งสี่อาคาร ในกรณีของพระอุโบสถ ซึ่งเป็นอาคารประธาน การศึกษาได้ลงรายละเอียดต่อไปยังองค์ประกอบซุ้มช่องเปิดและการประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างสัดส่วนในกายภาพของสถาปัตยกรรมภายนอก สู่สัดส่วนของพื้นที่ว่างภายในห้องพระอุโบสถซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มอาคาร
ผลการศึกษาพบว่า ฉันทลักษณ์เชิงสัดส่วนปรากฏอยู่ในรูปตั้งด้านสกัด หน้าจั่วที่มีสัดส่วนความกว้าง : ความสูง ประมาณ 1 : 0.7 มีบทบาทสำคัญในการกำกับทรงของสถาปัตยกรรม การแบ่งผืนตับหลังคาอ้างอิงสัดส่วนต่อเนื่องจากความสูงของตับหลังคาด้านบน และตับหลังคาสุดท้ายอ้างอิงสัดส่วนคงที่จากความสูงของหน้าจั่ว ระบบของตับในเครื่องบนหลังคากำหนดตำแหน่งขององค์ประกอบปิดล้อมทั้งทางตั้งและทางนอน กล่าวคือ องค์ประกอบเสาและผนังจะวางตัวตามแนวตับหลังคา ส่วนองค์ประกอบฝ้าจะอ้างอิงระดับจากเชิงกลอนของตับหลังคา การก่อรูปสถาปัตยกรรมด้วยฉันทลักษณ์ดังกล่าวส่งผลให้พระวิหารทิศ พระระเบียงคดชั้นใน และพระระเบียงคดชั้นนอก ซึ่งเป็นอาคารจั่วเปิดและมีรูปแบบความสัมพันธ์ของตับหลังคาที่ 2 กับองค์ประกอบปิดล้อมทางตั้งเหมือนกัน มีสัดส่วนเดียวกันทั้งในรูปตั้งด้านสกัดและระนาบที่ว่างภายใน ในขณะที่พระอุโบสถซึ่งเป็นอาคารจั่วปิดและมีรูปแบบความสัมพันธ์ของตับหลังคาที่ 4 กับองค์ประกอบปิดล้อมทางตั้ง มีสัดส่วนและทรงแผ่ออกไป โดดเด่นขึ้นมาในฐานะอาคารประธาน ความสัมพันธ์ของสัดส่วนยังเชื่อมโยงไปยังองค์ประกอบย่อย พระพุทธรูปภายในห้องพระอุโบสถปรากฏสัดส่วน 1 : 0.75 ทั้งในสัดส่วนขององค์พระพุทธรูปเองและสัดส่วนในการประดิษฐาน ซึ่งลักษณะดังกล่าวใกล้เคียงกับสัดส่วนของหน้าจั่วที่ 1 : 0.7 และสัดส่วนในการยกของหน้าจั่วเหนือจากระดับพื้น ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าฉันทลักษณ์เชิงสัดส่วนปรากฏอยู่ ณ ที่ว่างภายในอาคารศูนย์กลางเช่นกัน
การก่อรูปสถาปัตยกรรมด้วยรูปแบบความสัมพันธ์ของสัดส่วนดังกล่าวส่งผลให้เกิดลักษณะร่วมทางกายภาพของอาคารทั้งสี่ ไม่เพียงแต่ทรงของรูปตั้งด้านสกัดที่ปรากฏชัดด้วยชุดความสัมพันธ์ของตับหลังคาที่ 2 และองค์ประกอบปิดล้อมทางตั้ง แต่ยังรวมถึงระนาบที่ว่างที่เกิดขึ้นภายใน ซึ่งเกิดจากการอ้างอิงระดับฝ้าจากระดับชายคาตับที่ 2 เช่นกัน ตลอดจนในการประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ดังนั้น ฉันทลักษณ์เชิงสัดส่วนจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดเอกภาพภายในกลุ่มอาคารพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนฯ ทั้งในระดับรูปทรงของสถาปัตยกรรมภายนอก และในระดับการเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่ว่างภายในสถาปัตยกรรม