Abstract:
จากกฎกระทรวงฉบับที่ 41 (พ.ศ.2537) เคยมีการปรับปรุงข้อกำหนดให้ช่องจอดรถยนต์เล็กลง จากขนาดกว้าง 2.50 x ยาว 6.00 เมตร เป็น 2.40 x 5.00 เมตร ต่อมามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ส่งผลให้เกิดการใช้รถยนต์ขนาดเล็กเพิ่มขึ้น โดยการศึกษาเบื้องต้นพบว่าช่องจอดรถยนต์ขนาดเล็กมีขนาดลดลงเป็น 2.30 x 4.20 เมตร ดังนั้นถ้าขนาดช่องจอดรถยนต์มีขนาดเล็กลง และมีหลายขนาดเพื่อรองรับรถยนต์ที่มีความหลากหลายในปัจจุบันได้ จะส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้พื้นที่ช่องจอดรถยนต์ และประหยัดค่าก่อสร้างมากขึ้น
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลที่จะได้รับจากการปรับใช้ช่องจอดรถยนต์ขนาดเล็กร่วมกับรถยนต์ขนาดทั่วไป จากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างช่องจอดรถยนต์ ทางวิ่ง โครงสร้าง ทางลาด และเปรียบเทียบอัตราส่วนของพื้นที่ระหว่างช่องจอดรถยนต์ขนาดทั่วไปและขนาดเล็กที่แตกต่างกัน เพื่อนำมาศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนการก่อสร้าง ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทำการสรุปแนวทางการปรับใช้ขนาดช่องจอดรถยนต์ขนาดเล็ก สำหรับอาคารจอดรถยนต์ จำนวน 200 คัน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เมื่อมีการปรับใช้และเพิ่มอัตราส่วนของจำนวนช่องจอดรถยนต์ขนาดเล็กเข้าไปแทนที่ช่องจอดรถยนต์ขนาดทั่วไป สามารถลดขนาดพื้นที่ของอาคารเริ่มต้นได้ 1% และลดลงไปได้มากที่สุดถึง 3-4% โดยพื้นที่มีขนาดเฉลี่ยเท่ากับ 27-31 ตร.ม./คัน หรือลดลงต่อ 1 ชั้น เท่ากับ 2 ตร.ม./คัน นอกจากนี้การลงทุนการก่อสร้างยังลดลงในอัตราส่วนที่เท่ากันตามไปด้วย
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่ามีผู้เห็นด้วยต่อการตัดสินใจในการปรับใช้ขนาดช่องจอดรถยนต์ที่เล็กลงและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง นอกจากประหยัดค่าก่อสร้างมากขึ้นแล้ว พื้นที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ขายและพื้นที่เช่าได้ในอาคารชุดระดับปานกลาง-ต่ำ ห้างสรรพสินค้า และสำนักงานในเมือง โดยอัตราส่วนของช่องจอดรถยนต์ที่ต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทและที่ตั้งของอาคาร ซึ่งแนวความคิดนี้สามารถนำไปปรับใช้เป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนาการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือ FAR Bonus ได้ และข้อเสนอแนะงานวิจัยนี้ นอกจากการลดพื้นที่ช่องจอดรถยนต์แล้ว ขนาดของทางวิ่งและทางลาด ควรมีขนาดที่สัมพันธ์กับพื้นที่ของช่องจอดรถยนต์ที่เล็กลงตามไปด้วย เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น