Abstract:
การสร้างแบบจำลองสารสนเทศ สำหรับการบริหารจัดการกายภาพ ของอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ จากการสร้างองค์ประกอบกายภาพอาคารของกรณีศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงขั้นตอนการสร้างแบบจำลองสารสนเทศ (BIM) และการประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมในการบริหารจัดการกายภาพของกระทรวงการต่างประเทศ
การศึกษาแนวคิดการบริหารจัดการกายภาพอาคารสถานที่ โดยการรวบรวมข้อมูลองค์ประกอบกายภาพ ทำให้เกิดความเข้าใจการบริหารจัดการกายภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการสร้างแบบจำลองสารสนเทศ (BIM) และประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการกายภาพทางไกล (Distant Management) ระหว่างสำนักจัดหาและบริหารทรัพย์สิน กระทรวงการต่างประเทศ อาคารสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ปัญหาข้อมูลทางกายภาพ ที่เป็นแบบก่อสร้างจริง (As built drawing) ประกอบด้วยอาคารเดิมที่เป็นแบบกระดาษพิมพ์เขียว และอาคารใหม่ที่เป็นแบบไฟล์ดิจิตอล เมื่อนำไปสำรวจสภาพจริงของอาคารกรณีศึกษา พบว่าข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแก้ไขอาคาร โดยไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้ ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการสร้างแบบจำลองสารสนเทศ (BIM) ใช้โปรแกรมกราฟฟิกซอฟ อาคิแคต (Graphicsoft ArchiCAD) ที่ประกอบด้วย ข้อมูลเชิงกราฟิก (Graphic) เป็นมุมมองภาพเสมือนจริง 3 มิติ และข้อมูลไม่ใช่กราฟิก (Non-Graphic) ซึ่งเป็นอักขระตัวเลข ที่มีรายละเอียดที่จำเป็น ตลอดจนวิเคราะห์แบบจำลองสารสนเทศ (BIM) กับการบริหารจัดการอาคารสถานที่ และนำเสนอผลการศึกษาต่อเจ้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักจัดหาและบริหารทรัพย์สิน กระทรวงการต่างประเทศ
จากการนำเสนอผลการศึกษา พบว่าเจ้าหน้าที่สำนักจัดหาและบริหารทรัพย์สิน กระทรวงการต่างประเทศ มีความเห็นว่า การมีแบบจำลองสารสนเทศ (BIM) จากมุมมองภาพเสมือนจริง 3 มิติ ทำให้การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่สำนักจัดหาและบริหารทรัพย์สิน กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ประจำอาคารสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศมีความชัดเจน ถูกต้องมากขึ้น ส่วนข้อมูลอักขระและตัวเลข ช่วยในการจดบันทึก สามารถรวบรวมข้อมูลและเพิ่มเติมรายละเอียดได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการกายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้พบข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ คำนึงถึงเรื่องงบประมาณ การลงทุนในการจัดทำแบบจำลองสารสนเทศ (BIM) สำหรับการพัฒนาข้อมูลระบบบริหารกายภาพ และบุคลากรในการดูแลบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต