Abstract:
กฎหมายการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ใน สปป ลาว มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 10 ฉบับ ประกอบด้วย กดหมายว่าด้วยกานปกปักฮักสาสิ่งแวดล้อม ดำลัด ข้อตกลง คำแนะนำ และละเบียบกาน ส่วนในประเทศไทย มีมาตั้ง แต่ปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 60 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ใน สปป ลาว กำหนดเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กานปะเมินผนกะทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และกานสึกสาเบื้องต้นเกี่ยวกับผนกะทบต่อสิ่งแวดล้อม (IEE) เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยกำหนด 2 ประเภท ได้แก่ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิมเรียกว่า การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)
เมื่อเปรียบเทียบด้านเนื้อหาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พบว่า ใน สปป ลาว กำหนดประเภทและขนาดโครงการสถาปัตยกรรม ที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3 ประเภท ระยะเวลาการพิจารณารายงานฯ 95 วัน ไม่กำหนดจำนวนครั้งในการแก้ไขรายงานฯ กำหนดส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานฯ เฉพาะในช่วงก่อสร้าง และกรณีไม่ส่งรายงานฯ ไม่มีโทษปรับ ส่วนประเทศไทย กำหนดประเภทและขนาดโครงการสถาปัตยกรรม 5 ประเภท ระยะเวลาการพิจารณารายงานฯ 75 วัน การแก้ไขรายงานฯ ทำได้เพียงครั้งเดียว กำหนดส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และกรณีไม่ส่งรายงานฯ มีโทษปรับ
ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ใน สปป ลาว กำหนดประเภท และขนาดโครงการสถาปัตยกรรม ที่ต้องจัดทำรายงานฯ 4 ประเภท แต่ในประเทศไทย กำหนด 5 ประเภท และบังคับให้จัดทำรายงานฯ เฉพาะในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ทั้งนี้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ สปป ลาว กำหนดไว้ในกดหมาย และบัญญัติเป็นดำลัด ออกประกาศใช้โดยฝ่ายบริหาร ในขณะที่เรื่อง การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของไทยนั้น ปรากฎในรัฐธรรมนูญ และบัญญัติเป็นพระราชบัญัติเฉพาะ ด้วยจำนวนกฎหมายของไทยมีมากกว่า ทำให้เนื้อหากฎหมายครอบคลุมมากกว่าใน สปป ลาว