Abstract:
อุตสาหกรรมทอผ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานในการดำเนินกิจการจำนวนมาก ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงมีการจัดที่พักอาศัยสวัสดิการให้กับแรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นเครื่องมือจูงใจในการทำงาน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักอาศัยสวัสดิการให้กับแรงงานโรงงานทอผ้าของผู้ประกอบการ รวมถึงทัศนคติของแรงงานที่มีต่อที่พักอาศัย เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโรงงาน 3 แห่ง ขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ขนาดละ 1 แห่ง ในพื้นที่อำเภอ อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ และไร่ขิง สำรวจพื้นที่ที่พักอาศัยสวัสดิการ และสัมภาษณ์แรงงานโรงงานทั้ง 3 แห่ง จำนวน 41 คน
ผลการศึกษาพบว่า 1) แนวคิดการจัดให้มีที่พักอาศัยของผู้ประกอบการโรงงานทั้ง 3 แห่งมีความแตกต่างกัน โดยผู้ประกอบการโรงงานขนาดใหญ่เห็นว่าที่พักสำหรับแรงงานเป็นสวัสดิการที่อำนวยความสะดวกให้แรงงาน ซึ่งเหมาะสมกับลักษณะงานของโรงงาน ในขณะที่โรงงานขนาดกลางจัดให้มีที่พักสวัสดิการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรงงาน เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ส่วนโรงงานขนาดเล็กจัดที่พักอาศัยเพื่อเป็นเครื่องมือดึงดูดใจให้แรงงานเลือกทำงานกับโรงงาน และเพื่อให้สามารถแข่งขันกับโรงงานอื่นได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงงานทั้ง 3 แห่ง คิดว่ารัฐบาลไม่ควรกำหนดให้ต้องมีการจัดที่พักสวัสดิการ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ต้นทุนของโรงงาน และความต้องการของแรงงานที่แตกต่างกัน 2) การพัฒนาที่พักอาศัยของโรงงานทั้ง 3 แห่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ (1) อาคารที่พักที่อยู่บริเวณเดียวกับโรงงานและ (2) ที่พักที่รวมอยู่เป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงงาน โดยโรงงานขนาดใหญ่และขนาดกลางมีลักษณะที่พักในรูปแบบที่ (1) ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาที่พักอาศัยคือการควบคุมต้นทุนการดูแลอาคารในระยะยาว จึงสร้างอาคารที่ดูแลง่ายและเพื่อลดปัญหาการอยู่อาศัยของแรงงาน 3) แนวทางการบริหารจัดการที่พักอาศัยของโรงงานทั้ง 3 แห่งแตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยทั้งแนวคิดผู้ประกอบการเอง ลักษณะการดำเนินงาน ลักษณะพฤติกรรมของแรงงาน จำนวนและอายุงานของแรงงาน ทั้งนี้ การบริหารจัดการที่ต่างกันส่งผลต่อสภาพอาคารที่พักให้มีความต่างกันด้วย 4) ความคิดเห็นและความพึงพอใจของแรงงานต่อที่พักอาศัยสวัสดิการ พบว่าแรงงานของโรงงานเล็กมีความพึงพอใจในที่พักอาศัยน้อยกว่าแรงงานของโรงงานอีก 2 แห่ง อย่างไรก็ดีแรงงานส่วนใหญ่มักไม่ต้องการอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นที่พักอาศัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าอาศัยภายนอกโรงงาน
งานวิจัยฉบับนี้ชี้ให้เห็นแนวคิดของผู้ประกอบการในการจัดให้มีที่พักอาศัยสวัสดิการ แนวทางการพัฒนาและการบริหารจัดการ รวมถึงประโยชน์และข้อจำกัดของการมีที่พักอาศัยสวัสดิการ ผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการคำนึงถึงความเหมาะสมในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักอาศัยสวัสดิการ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่พักอาศัยของกลุ่มแรงงานผู้มีรายได้น้อยต่อไป