Abstract:
การพัฒนาที่พักนักท่องเที่ยวพร้อมกับจัดกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติและวิถีชุมชน เป็นแนวทางพัฒนาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาแนวคิดและกระบวนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักนักท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับวิถีชุมชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยคัดเลือกกรณีศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ โครงการเดวารีสอร์ท โครงการสวนปาล์มฟาร์มนกรีสอร์ท และโครงการบางปะกงโบ๊ทคลับแอนด์รีสอร์ท รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ผู้นำในการจัดกิจกรรมของชุมชน และนักท่องเที่ยว ประกอบการสำรวจโครงการ และรวบรวมความคิดเห็นผู้เข้าพักจากเว็บไซต์ผู้ให้บริการจองที่พัก สิ้นสุดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 วิเคราะห์ผลโดยถอดความสำคัญจากบทสัมภาษณ์ และสรุปความคิดเห็นการเข้าพักของนักท่องเที่ยว
ผลการศึกษาพบว่า 1) แนวคิดสำคัญของผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการทั้ง 3 แห่ง มีความคล้ายคลึงกัน คือ มีแนวคิดการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่คำนึงถึงสภาพพื้นที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ริมแม่น้ำที่มีชุมชนแวดล้อม ทำให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักนักท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม 2) กระบวนการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้มีขั้นตอนที่สำคัญ คือ การออกแบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม การเลือกใช้ทรัพยากรและแรงงานท้องถิ่นในการก่อสร้างและการให้บริการ 3) การให้บริการผู้เข้าพักในโครงการโดยการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน พบว่าโครงการที่มีระดับการมีส่วนร่วมกับชุมชนสูง ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีและนำมาซึ่งความพึงพอใจของชุมชนในระดับสูง 4) ผู้ประกอบการเห็นว่าการจัดกิจกรรมของโครงการเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเข้าพักซ้ำและทำให้อัตราการเข้าพักสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในความเห็นของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในเรื่องทัศนียภาพและการบริการ ส่วนเรื่องกิจกรรมเป็นความพึงพอใจในระดับรองลงมา
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นบทเรียนที่สำคัญว่า การพัฒนาที่พักนักท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับชุมชนควรพิจารณาการนำแนวความคิดทั้งเชิงธุรกิจและแนวคิดการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาใช้ร่วมกับการพัฒนาโครงการ ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่มีคุณค่าทั้งในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมชุมชน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรพิจารณาศึกษาคือการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสภาพความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ งานวิจัยฉบับนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะนี้ รวมถึงการวางแผนบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป