Abstract:
เคหะชุมชนคลองจั่น เป็นโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ มีอายุใช้งานมากว่า 40 ปี มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เก่าและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยไม่ดีเท่าที่ควร และขาดพื้นที่ส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน งานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาโอกาสและข้อจำกัดในการนำแนวคิดเกษตรในชุมชนมาใช้ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเคหะชุมชนคลองจั่น โดยศึกษาปัจจัยทางกายภาพ ปัจจัยด้านผู้อยู่อาศัย ปัจจัยด้านการเคหะแห่งชาติ และปัจจัยด้านการบริหารจัดการโครงการ ด้วยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และนำผลการศึกษาไปวิเคราะห์โอกาสและข้อจำกัดในการพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นข้อเสนอต่อการเคหะแห่งชาติในการพัฒนาและปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อการฟื้นฟูชุมชนต่อไป
จากการศึกษาพบว่า เคหะชุมชนคลองจั่น มีทั้งโอกาสและข้อจำกัดในการฟื้นฟู ดังนี้ (1) ปัจจัยทางกายภาพ เป็นโอกาส เนื่องจากมีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการและการเพาะปลูก (2) ปัจจัยด้านผู้อยู่อาศัย เป็นข้อจำกัด โดยพบผู้อยู่อาศัย 2 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าของห้อง และผู้เช่า ทั้งสองกลุ่มมีความต้องการในการทำเกษตรในชุมชน แต่พบว่ามีเพียงเจ้าของห้องที่มาเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งกลุ่มเจ้าของห้องเป็นผู้สูงอายุ มีจำนวนที่น้อยกว่าผู้เช่า มีรายได้น้อย ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำเกษตรกรรม ทำให้เป็นข้อจำกัดในด้านการบริหารจัดการโครงการด้วย (3) ปัจจัยด้านการเคหะแห่งชาติ เป็นโอกาส สามารถให้การสนับสนุนการใช้พื้นที่ชั่วคราวได้ และเงินลงทุนในเบื้องต้นบางส่วน แต่ต้องการให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมดำเนินการและลงทุน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของชุมชน และเพื่อให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาพื้นที่ จึงสามารถสรุปได้ว่าเคหะชุมชนคลองจั่นมีโอกาสในปัจจัยด้านลักษณะทางกายภาพและปัจจัยด้านการเคหะแห่งชาติ แต่ยังพบข้อจำกัดในปัจจัยด้านผู้อยู่อาศัยและปัจจัยด้านการบริหารจัดการโครงการ
จากผลการวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการเปลี่ยนข้อจำกัดให้เป็นโอกาสในการฟื้นฟูชุมชนด้วยแนวคิดเกษตรในชุมชน คือ (1) ส่งเสริมการทำกิจกรรมระหว่างผู้อยู่อาศัยทั้ง 2 กลุ่ม และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินการเกษตรในชุมชน ทั้งในด้านการดูแลรักษาพื้นที่ การบริหารจัดการโครงการ และการลงทุน เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และความเป็นเจ้าของชุมชน (2) การเคหะแห่งชาติและชุมชน ควรร่วมมือกันกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนาโครงการฯอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการเคหะแห่งชาติและภาคีที่จะให้การสนับสนุน นอกจากนี้หากการทำเกษตรในชุมชนประสบผลสำเร็จ การเคหะแห่งชาติและชุมชนอาจช่วยกันผลักดันให้เคหะชุมชนคลองจั่นเป็นชุมชนตัวอย่าง เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้จากการฟื้นฟูด้วยแนวคิดเกษตรในชุมชนกระจายสู่ชุมชนอื่น ๆ ของการเคหะแห่งชาติต่อไป