Abstract:
ชุมชนคลองโอ่งอ่างและชุมชนสะพานหัน เป็นชุมชนที่มีความสำคัญและประวัติศาสตร์ยาวนานในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ซึ่งมีองค์ประกอบทางกายภาพที่สำคัญคือ คลองโอ่งอ่าง ประตูเมือง สะพานหัน บ้านเจ้านาย เรือนแถว และตรอกซอกซอย สะท้อนให้เห็นความสำคัญและความหลากหลายของการใช้พื้นที่ชุมชนเป็นอย่างมาก จากการสำรวจพื้นที่ในปัจจุบันพบว่า ชุมชนยังคงสภาพการตั้งถิ่นฐานและสถาปัตยกรรมแบบเดิมอยู่ ในขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงในบริบทเดียวกันเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้การศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงสัณฐานของชุมชนคลองโอ่งอ่างและชุมชนสะพานหันจึงเป็นการศึกษาที่สำคัญสะท้อนให้เห็นถึงเหตุและปัจจัยการยังคงสภาพการตั้งถิ่นฐานและสถาปัตยกรรมแบบเดิมอยู่ รวมถึงความหลากหลายของการใช้พื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จากการศึกษาในพื้นที่ศึกษาพบว่า ปัจจัยเชิงพื้นที่ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญประกอบด้วย 2 ปัจจัยได้แก่ 1) การพัฒนาเครือข่ายเส้นทางสัญจรสมัยรัชกาลที่ 5 และ2) การพัฒนาแปลงที่ดินสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้ค้นพบประเด็น 3 ข้อได้แก่ 1) ลักษณะการเปลี่ยนรูปแปลงที่ดินและการใช้งานที่ดินชุมชน 3 รูปแบบคือ รูปแปลงที่คงเดิม รูปแปลงที่ดินซอยแปลง และรูปแปลงที่ดินผสม 2) พัฒนาการเส้นทางสัญจร 3 ช่วงเวลาคือ ช่วงที่ 1 เป็นแรกเริ่มของเส้นทางตรอกหลักและตรอกรอง ช่วงที่ 2 เป็นการพัฒนาตรอกและตัดถนนใหม่ และช่วงที่ 3 เป็นการพัฒนาตรอกย่อยภายในแปลงที่ดิน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคือ ลักษณะดั้งเดิม การพัฒนาภายนอกชุมชน การพัฒนาภายในชุมชน และการพัฒนาภายในแปลง และ 3) สัณฐานการใช้พื้นตรอกซอกซอยของชุมชน ทำให้เกิดเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ ตรอกยาฉุน ตรอกขี้หมา และตรอกแคบ ซึ่งเกิดจากปัจจัยคือ แปลงที่ดินและการใช้งานมาก่อนกฎหมาย และการพัฒนาภายในแปลง ซึ่งทั้งสามข้อค้นพบทำให้ชุมชนการยังคงสภาพการตั้งถิ่นฐานและสถาปัตยกรรมแบบเดิมอยู่ รวมถึงความหลากหลายของการใช้พื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนปัจจัยด้านอื่นๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจมีการศึกษาในอนาคตต่อไป