Abstract:
พื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการอาคารสงเคราะห์กองทัพบก (ส่วนกลาง) นอกจากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อสภาพการอยู่อาศัยของกำลังพลและครอบครัวแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการเอื้อให้เกิดการใช้พื้นที่เพื่อตอบสนองต่อนโยบายกำลังพลของกองทัพบกที่กำหนดทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านคุณภาพการอยู่อาศัยของกำลังพลทุกระดับชั้นและครอบครัว 2) ด้านสมรรถภาพทางกายของกำลังพล และ 3) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพ และการใช้พื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการในปัจจุบันกับความสอดคล้องกับนโยบายที่กำหนด เพื่อนำไปสู่แนวทางการปรับปรุงพื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการต่อไป โดยคัดเลือกกรณีศึกษา 2 พื้นที่ซึ่งมีขนาดพื้นที่โครงการใกล้เคียงกัน แต่มีรูปแบบพื้นที่ภายนอกอาคารต่างกัน ได้แก่ พื้นที่สามเสน และ พื้นที่พญาไท โดยรวบรวมข้อมูลลักษณะทางกายภาพจากการสำรวจ รวบรวมข้อมูลการใช้พื้นที่จากการสังเกต การสัมภาษณ์ และการสอบถาม เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยหลักเกณฑ์การประเมินลักษณะทางกายภาพ การแจกแจงจำนวนผู้ใช้พื้นที่ และโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการพื้นที่สามเสนเป็นรูปแบบคอร์ทล้อมด้วยอาคารพักอาศัย ส่วนลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการพื้นที่พญาไทเป็นรูปแบบเส้นแนวยาว โดยผลการประเมินพบว่า โครงการพื้นที่สามเสนมีคะแนนลักษณะทางกายภาพมากกว่าพื้นที่พญาไท คิดเป็น 91 คะแนนต่อ 81 คะแนน โดยเฉพาะปัจจัยด้านขนาด และที่ตั้งขององค์ประกอบต่าง ๆ ของพื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการ อีกทั้งผลการศึกษาเรื่องการใช้พื้นที่พบว่า จำนวนผู้ใช้พื้นที่ภายนอกอาคารทั้งหมดเฉลี่ยในหนึ่งวันในโครงการพื้นที่สามเสนมีมากกว่าพื้นที่พญาไท คิดเป็นร้อยละ 9.69 ต่อร้อยละ 8.41 ของจำนวนผู้พักอาศัยโดยประมาณในแต่ละโครงการ ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าพื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการพื้นที่สามเสนมีลักษณะทางกายภาพ และการใช้พื้นที่สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนดทั้ง 3 ด้าน แต่พื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการพื้นที่พญาไทมีลักษณะทางกายภาพ และการใช้พื้นที่สอดคล้องกับนโยบายเพียง 2 ด้านเท่านั้น ได้แก่ ด้านคุณภาพการอยู่อาศัย และด้านความสัมพันธ์ฯ โดยไม่สอดคล้องกับนโยบายด้านสมรรถภาพทางกายของกำลังพล เนื่องจากไม่พบการใช้พื้นที่เพื่อการออกกำลังกายสำหรับการทดสอบสมรรถภาพทางกายรายการลุกนั่ง อีกทั้งกำลังพลของโครงการพื้นที่สามเสนรู้จักกำลังพลต่างชั้นยศใหม่เพิ่มเติมจากการใช้พื้นที่โดยเฉลี่ยมากกว่ากำลังพลของพื้นที่พญาไท คิดเป็นจำนวน 3.21 คน ต่อ 3.02 คน
แนวทางการปรับปรุงพื้นที่ภายนอกอาคารในโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนดมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ การจัดระบบการสัญจรเพื่อเพิ่มเส้นทางออกกำลังกายโดยรอบโครงการ การปรับปรุงพื้นที่เดิมให้เอื้อต่อการใช้ที่สอดคล้องกับนโยบายมากยิ่งขึ้น และการติดตั้งอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกให้ครอบคลุมพื้นที่ประกอบกิจกรรม ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทั้งด้านการดูแลรักษาสภาพทางกายภาพ การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมนโยบาย ตลอดจนด้านคุณภาพการอยู่อาศัยภายในโครงการ นอกจากนี้ควรมีการศึกษาด้านงบประมาณในการดำเนินการ การเงินการลงทุนเพิ่มเติม และควรศึกษาพื้นที่อื่น ๆ ในโครงการอาคารสงเคราะห์กองทัพบก (ส่วนกลาง) เพิ่มเติมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และหรือมาตรฐานในการออกแบบพื้นที่ภายนอกอาคารส่วนกลางในอนาคตให้สมบูรณ์และตอบสนองนโยบายได้ดีที่สุด