Abstract:
การศึกษาแนวคิดสุขภาวะทางใจหรือความสุขเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจมายาวนาน แต่การศึกษาเรื่องสุขภาวะทางใจในการอยู่อาศัยนั้นยังมีการศึกษาไม่มากนัก ในปัจจุบันการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีจํานวนอาคารชุดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ประเด็นเรื่องสุขภาวะทางใจในการอยู่อาศัยในอาคารชุดจึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการคํานึงถึงอย่างยิ่ง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางกายภาพของห้องชุดและสุขภาวะทางใจในการอยู่อาศัย เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางกายภาพที่มีความสัมพันธ์และส่งผลต่อสุขภาวะทางใจในการอยู่อาศัย และเพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนารูปแบบองค์ประกอบทางกายภาพของห้องชุด โดยใช้การรวบรวมแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ในการพัฒนาเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้อยู่อาศัยในรูปแบบห้องชุด 1 ห้องนอนของโครงการลุมพินี เพลส พระราม 9-รัชดา, ลุมพินี เพลส รัชโยธิน และลุมพินี เพลส พระราม4 – กล้วยน้ำไท รวมจํานวน 146 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และนําข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผลทางสถิติร่วมกับการวิเคราะห์ผังห้องชุด
ผลการศึกษาพบว่า (1) ลักษณะทางกายภาพของรูปแบบห้องชุด 4 รูปแบบ ในรูปแบบ B1 จากโครงการลุมพินี เพลส รัชโยธินและรูปแบบ C1 จากโครงการลุมพินี เพลส กล้วยน้ำไท มีรูปแบบการวางผังเหมือนกัน ส่วนในรูปแบบ A1 และ A2 จากโครงการลุมพินี เพลส พระราม 9-รัชดา มีความแตกต่างกันที่รูปแบบ A2 มีระเบียงบริเวณส่วนนอน ทั้งนี้รูปแบบ A1 และ A2 นั้นจะแตกต่างจากรูปแบบ B1 และ C1 อย่างชัดเจนในลักษณะการวางผัง, ลำดับการเข้าถึง, การกำหนดขอบเขตและการเชื่อมต่อในแต่ละพื้นที่ (2) ลักษณะครัวเรือน ลักษณะการอยู่อาศัยและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางใจของผู้อยู่อาศัย จากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 4 รูปแบบห้องชุด พบว่ามีความแตกต่างกันในบางหัวข้อ ได้แก่ อาชีพหลัก ในรูปแบบ B1 ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา ส่วนรูปแบบอื่น ๆ เป็นพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน, ระดับรายได้ มีความหลากหลายในแต่ละรูปแบบ โดยจะอยู่ในช่วง ต่ำกว่า 20,000 – 60,000 บาท, ผู้อยู่อาศัยร่วมกัน ในรูปแบบ C1 ส่วนใหญ่อยู่อาศัยคนเดียว ส่วนรูปแบบอื่น ๆ อยู่อาศัยร่วมกับครอบครัว และลักษณะที่อยู่อาศัยเดิม ในรูปแบบ A1 ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม ส่วนรูปแบบอื่น ๆ เป็นบ้านเดี่ยว ทั้งนี้ในส่วนของหัวข้ออื่น ๆ จะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน (3) ลักษณะครัวเรือนและลักษณะการอยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยในห้องชุดทั้ง 4 รูปแบบมีความแตกต่างกัน แต่มีค่าเฉลี่ยสุขภาวะทางใจในการอยู่อาศัยที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (4) ระดับสุขภาวะทางใจในการอยู่อาศัยของกลุ่มตัวอย่างจากรูปแบบห้องชุดทั้ง 4 รูปแบบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (5) องค์ประกอบทางกายภาพของห้องชุดที่สัมพันธ์และส่งผลทางบวกต่อสุขภาวะทางใจของผู้อยู่อาศัย มี 4 ตัวแปรจาก 56 ตัวแปร เรียงอันดับจากมากไปน้อย คือ บริเวณส่วนนอน, ตำแหน่งส่วนรับประทานอาหาร, ความกว้างระเบียง และห้องชุดโดยรวม (6) ปัจจัยภายนอกห้องชุดที่สัมพันธ์และส่งผลทางบวกต่อสุขภาวะทางใจของผู้อยู่อาศัยมี 2 ตัวแปร จาก 9 ตัวแปร เรียงอันดับจากมากไปน้อย คือ การบริหารจัดการที่ดีของนิติบุคคล และรูปแบบสถาปัตยกรรมของโครงการ (7) ตัวแปรองค์ประกอบทางกายภาพของห้องชุดมีความสัมพันธ์และส่งผลทางบวกต่อสุขภาวะทางใจ มากกว่าปัจจัยภายนอกห้องชุด และ (8) องค์ประกอบทางกายภาพของห้องชุดและปัจจัยภายนอกห้องชุด ที่ได้รับระดับความสำคัญต่อสุขภาวะทางใจสูงที่สุด 3 อันดับแรก เรียงอันดับจากมากไปน้อย คือ การป้องกันการโจรกรรม, การป้องกันอัคคีภัย และทำเลที่ตั้งโครงการ
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าองค์ประกอบทางกายภาพของห้องชุด และปัจจัยภายนอกห้องชุดโดยส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ต่อสุขภาวะทางใจในการอยู่อาศัย โดยองค์ประกอบทางกายภาพที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางใจนั้นเป็นส่วนที่ควรให้ความสำคัญและเน้นพัฒนาการออกแบบ อย่างการจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดให้มีขนาดเหมาะสม มีขอบเขตบริเวณชัดเจนและสามารถยืดหยุ่นการใช้งานได้ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัยได้หลากหลาย ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรให้ความสําคัญกับองค์ประกอบทางกายภาพของห้องชุดร่วมกับปัจจัยภายนอกและพัฒนาไปร่วมกัน รวมถึงควรศึกษาต่อยอดในเชิงรายละเอียดในการออกแบบ หรือศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างอื่น ๆ ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนควรมีการวางแผนในการพัฒนาและคํานึงถึงการกําหนดแนวทางในการออกแบบห้องชุดให้ตอบสนองสุขภาวะทางใจของผู้อยู่อาศัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างสุขภาวะทางใจที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดต่อไป