Abstract:
สวนสาธารณะเป็นพื้นที่สีเขียวที่สำคัญของเมือง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อประชาชน โดยสวนสาธารณะก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้านต่อประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลของผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ และวิเคราะห์ผลกระทบของสวนสาธารณะที่ส่งผลต่ออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบ โดยการศึกษาครั้งนี้ได้เลือก สวนสันติภาพ ที่ตั้งอยู่ในเขตราชเทวี เป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นสวนประเภทสวนละแวกบ้าน ซึ่งมีขนาดและระยะรัศมีบริการเหมาะสมแก่การศึกษา รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งและบริบทโดยรอบที่มีอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท โดยมีระเบียบวิธีในการศึกษาคือ 1) ทบทวนเอกสาร หลักการ และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2) สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง และ 3) วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการศึกษา และข้อเสนอแนะ โดยในงานวิจัยนี้มีกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ใช้บริการสวนสันติภาพ จำนวน 286 คน และผู้จัดการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบภายในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบสวนสันติภาพ จำนวน 13 คนจาก 13 โครงการ
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์และปัจจัยที่ส่งผลต่อผู้ใช้บริการสันติภาพที่มีการใช้งานอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบ และข้อมูลด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายในพื้นที่โดยรอบสวนสาธารณะของผู้ใช้บริการสันติภาพ รวมถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ ของสวนสันติภาพที่ส่งผลต่ออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบ โดยจากการศึกษาสามารถสรุปผลได้ดังนี้ 1) ข้อมูลด้านประชากรและข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานสวนสาธารณะของผู้ใช้บริการสวนสันติภาพ จากกลุ่มตัวอย่างของผู้ใช้บริการสวนสันติภาพ พบว่า ผู้ใช้บริการสวนสันติภาพส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีช่วงอายุ 41-50 ปี มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน และมีรายได้ในช่วง 15,001-30,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยส่วนมากอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยแนวสูง และเป็นประเภทเช่า มีลักษณะการใช้งานเป็นการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่มาใช้งานคนเดียว ในช่วงเวลา 15.00-21.00 น. มีระยะเวลาการใช้งานต่ำกว่า 60 นาที โดยมาใช้งานสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง เดินทางโดยการเดินเท้า และใช้ระยะเวลาต่ำกว่า 15 นาที โดยส่วนมากเดินทางมาจากที่อยู่อาศัย และกลับที่อยู่อาศัยหลังใช้งานเสร็จ 2) ผู้ใช้บริการสวนสันติภาพที่มีการใช้จ่ายในพื้นที่โดยรอบคิดเป็นร้อยละ 70.63 ของผู้ใช้บริการสวนสันติภาพทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมี 2 ประเภท ได้แก่ ค่าใช้จ่ายประเภทซื้อสินค้า และค่าใช้จ่ายประเภทอาหารและเครื่องดื่ม โดยส่วนใหญ่ของค่าใช้จ่ายจะเป็นประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อครั้งอยู่ที่ 107 บาท โดยผู้ใช้บริการสวนสันติภาพกลุ่มที่มีการใช้จ่ายมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ กลุ่มที่มีอาชีพธุรกิจส่วนตัวและทำงานอิสระ กลุ่มที่มีรายได้ 15,000 บาท ขึ้นไป กลุ่มที่มาใช้งานเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ กลุ่มที่มาใช้งานในช่วงเวลา 15:00-18:00 น. กลุ่มที่มีระยะเวลาในการใช้งาน 120 นาที ขึ้นไป กลุ่มที่มีจำนวนครั้งในการมาใช้งานต่อสัปดาห์ต่ำ และกลุ่มที่มีระยะเวลาการเดินทาง 30 นาที ขึ้นไป และ 3) จากการศึกษา พบว่า ผลกระทบของสวนสันติภาพมีทั้งหมด 11 ข้อ โดยเป็นผลกระทบเชิงบวก 6 ข้อ และผลกระทบเชิงลบ 5 ข้อ ซึ่งผลกระทบเชิงลบทั้งหมดของสวนสันติภาพนั้นเป็นผลกระทบที่ส่งผลเฉพาะพื้นที่เท่านั้น ได้แก่ การจราจร ผลกระทบทางสังคม สาธารณสุข เสียงและการสั่นสะเทือน และการใช้น้ำ ต่างกับผลกระทบเชิงบวกที่ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นผลกระทบที่ส่งผลกับโครงการส่วนใหญ่ในพื้นที่โดยรอบของสวนสันติภาพ โดยผลกระทบเชิงบวกที่มีคะแนนนัยสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ สุขภาพ สุนทรียภาพและทัศนียภาพ และสภาพเศรษฐกิจ โดยจากการศึกษาสามารถอภิปรายผลได้ว่า สวนสาธารณะนั้นมีผลกระทบในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบ ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณาการใช้สวนสาธารณะเป็นเครื่องมือสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ และนำเอาข้อมูลผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบไปใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาสวนสาธารณะต่อไป รวมทั้งในภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบสวนสาธารณะจะสามารถนำเอาข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้สวนสาธารณะสำหรับวางแผนการตลาด และกำหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการ รวมไปถึงทางด้านกายภาพอย่างการเลือกตำแหน่งที่ตั้ง และการออกแบบโครงการให้มีสอดคล้องและได้รับประโยชน์จากสวนสาธารณะสูงสุด