Abstract:
ภูมิทัศน์แม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ที่มีสายน้ำเป็นศูนย์กลาง โดยแม่น้ำเป็นสายน้ำที่ไหลตามพื้นผิวโลกมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตบกและน้ำ ซึ่งพลวัตของน้ำส่งผลต่อแม่น้ำทำให้เกิดความหลากหลายของผลผลิตที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และนิเวศบริการ การวิจัยมุ่งเน้นที่ชุมชนบ้านดอนชัยสักทองซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำยมตอนบนของประเทศไทย เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับภูมิทัศน์แม่น้ำ
วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อจำแนกองค์ประกอบและปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิทัศน์แม่น้ำยมตอนบนและการรับรู้สภาพแวดล้อมที่นำมาสู่การวิเคราะห์ทัศนียภาพ โดยกระบวนการวิจัยประกอบไปด้วย การสอบถามมุขปาฐะ การวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และการตีความทัศนียภาพจากภาพถ่ายที่เป็นเครื่องมือแสดงองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาของแม่น้ำยมตอนบนจากการตีความภาพ
ผลการวิจัยพบว่าการเปรียบเทียบองค์ประกอบทางกายภาพของท้องถิ่นแม่น้ำยมตอนบนเกิดจากการรับรู้สภาพแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งจากลักษณะภูมิทัศน์ที่แตกต่างกันทำให้เกิดนิเวศบริการทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้แก่ ความเชื่อ ความรู้ในการใช้งานทรัพยากร การดำรงชีพและบรรทัดฐาน ที่อธิบายความสัมพันธ์ของการวิเคราะห์ทัศนียภาพ ในผลสรุปจากทัศนียภาพแสดงลักษณะภูมิทัศน์ที่โดดเด่น คือ หาดและแก่ง ที่สร้างให้เกิดความเข้าใจและอนุรักษ์ และใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการใช้ประโยชน์ภูมิทัศน์แม่น้ำยมตอนบน