Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความหลงตนเองและความดึงดูดใจแบบโรแมนติกที่มีต่อบุคคลเป้าหมายต่างเพศ ผู้ร่วมการวิจัยเป็นนิสิตปริญญาตรีทำมาตรวัดความหลงตนเองและถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คนที่หลงตนเองสูงและคนที่หลงตนเองต่ำ การศึกษาที่ 1 ผู้ร่วมการวิจัยประเมินความดึงดูดใจแบบโรแมนติกต่อบุคคลเป้าหมาย 4 ประการ (บุคคลที่ชื่นชมตน บุคคลที่แสดงความเอาใจใส่ บุคคลที่สมบูรณ์แบบ และบุคคลที่เรียกร้องจากผู้อื่น) การศึกษาที่ 2 ผู้ร่วมการวิจัยประเมินความดึงดูดใจแบบโรแมนติกต่อบุคคลเป้าหมาย 2 ประเภท (บุคคลที่สมบูรณ์แบบแต่ไม่แสดงความเอาใจใส่ และบุคคลที่แสดงความเอาใจใส่แต่ไม่สมบูรณ์แบบ) ผลการวิจัยพบว่า 1. คนที่หลงตนเองสูงมีความดึงดูดใจแบบโรแมนติกต่อบุคคลที่แสดงความชื่นชมตนและบุคคลที่สมบูรณ์แบบมากกว่าบุคคลที่เรียกร้องจากผู้อื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .001 นอกจากนี้ ยังพบผลที่สวนทางกับสมมติฐาน คือ คนที่หลงตนเองสูงมีความดึงดูดใจแบบโรแมนติกต่อบุคคลที่แสดงความเอาใจใส่มากกว่าบุคคลที่แสดงความชื่นชมตนและบุคคลที่สมบูรณ์แบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ 0.5 ตามลำดับ 2. คนที่หลงตนเองต่ำมีความดึงดูดใจแบบโรแมนติกต่อบุคคลที่แสดงความเอาใจใส่มากกว่าบุคคลที่แสดงความชื่นชมตนและบุคคลที่สมบูรณ์แบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .001 นอกจากนี้ ยังพบผลที่สวนทางกับสมมติฐาน คือ คนที่หลงตนเองต่ำมีความดึงดูดใจแบบโรแมนติกต่อบุคคลที่แสดงความชื่นชมตนและบุคคลที่สมบูรณ์แบบมากกว่าบุคคลที่เรียกร้องจากผู้อื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .001 3. ทั้งคนที่หลงตนเองสูงและคนที่หลงตนเองต่ำมีความดึงดุดใจแบบโรแมนติกต่อบุคคลที่แสดงความเอาใจใส่แต่ไม่สมบูรณ์แบบมากกว่าบุคคลที่สมบูรณ์แบบแต่ไม่แสดงความเอาใจใส่อย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ .001 4. ความหลงตนเองมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นในลักษณะพึ่งตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .001