Abstract:
การศึกษานี้ตั้งข้อสังเกตต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาว่าไม่อาจเปลี่ยนผ่านได้ด้วยแนวทางเส้นตรง (linear democratization)ได้แก่การจัดตั้งสถาบันทางการเมืองหรือ การจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่แนวทางที่แน่นอนในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบเสรีได้อย่างแท้จริง การศึกษานี้มีคำถามวิจัย คือ การทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างฝ่ายรัฐบาลเมียนมา และฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในสหภาพเมียนมาอย่างไร ตลอดจนข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมา กับรัฐบาลรัฐคะฉิ่นและระหว่างรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลรัฐกะเหรี่ยงส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยภายในรัฐกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองอย่างไร ทั้งยังศึกษาเปรียบเทียบข้อตกลงหยุดยิงและผลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของรัฐบาลรัฐคะฉิ่นและรัฐบาลรัฐกะเหรี่ยงหลังการทำข้อตกลงหยุดยิง
กรอบหลักในการศึกษาคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของโดนัลด์ แชร์(Donald Share) ที่อธิบายการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในสหภาพเมียนมาโดยการยินยอมของฝ่ายผู้นำทหาร สำหรับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในรัฐคะฉิ่นและรัฐกะเหรี่ยง อธิบายภายใต้กรอบการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบเป็นไปตามกระบวนการตามลำดับ (Sequencing Approach) ด้วยการจัดตั้งสถาบันทางการเมืองโดยโทมัส คาโรเธอร์ (Thomas Carothers) และกรอบการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradualist/Transformist) เป็นกรอบการศึกษาที่ยอมรับการเรียนรู้ในหลักการประชาธิปไตยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกกรณี จึงส่งเสริมสถานการณ์สันติภาพได้มากกว่าโดย ออล ทอร์ทควิสท์ (Olle Tornquist) และ คริสเตียน สโตกก์ (Kristian Stokke)
ผลการศึกษา พบว่า ข้อตกลงหยุดยิงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในทางสถาบันทางการเมืองที่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญและไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสันติภาพในสหภาพเมียนมา ในการเปรียบเทียบผลหลังการลงนามหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ พบว่ารัฐคะฉิ่นหลังยุติข้อตกลงหยุดยิง คุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยภายในรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นเติบโตขึ้น เนื่องด้วยเงื่อนไขภายในรัฐกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นที่มีความเป็นเอกภาพและการตระหนักในคุณค่าความเท่าเทียมกัน ในขณะที่รัฐกะเหรี่ยง ความแตกแยกภายในเป็นเงื่อนไขก่อนการลงนามข้อตกลงหยุดยิง เมื่อลงนามข้อตกลงหยุดยิงกลับไม่ได้เป็นสถาบันทางการเมืองที่สามารถส่งเสริมการรวมตัวและความเป็นประชาธิปไตยภายในรัฐกะเหรี่ยงได้