Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบทบาทของขบวนการแพทย์ชนบทในฐานะองค์การพัฒนาเอกชนที่มีส่วนร่วมผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2) เพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จของขบวนการแพทย์ชนบทในการเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เริ่มศึกษาตั้งแต่การก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบท ในปี พ.ศ. 2521 จนกระทั่งแพทย์ชนบทมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยการเก็บข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลการศึกษาพบว่า ขบวนการแพทย์ชนบทมีบทบาทสำคัญด้านองค์ความรู้ในการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวคือ ขบวนการแพทย์ชนบทเป็นผู้สั่งสมองค์ความรู้ผ่านโครงการวิจัยต่าง ๆ ได้แก่ โครงการขุนหาญ โครงการอยุธยา และโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข จนกลายเป็นรากฐานของการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก่อนที่จะประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและภาคการเมืองในช่วงระยะเวลาก่อนการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 ในส่วนของปัจจัยความสำเร็จของขบวนการแพทย์ชนบทในการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประกอบไปด้วย 5 ปัจจัยสำคัญ คือ 1) ปัจจัยด้านบริบทแวดล้อม 2) ปัจจัยด้านองค์ความรู้ 3) ปัจจัยด้านผู้นำและอุดมการณ์ 4) ปัจจัยด้านเครือข่ายทางสังคม และ 5) ปัจจัยด้านทรัพยากร