Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้ว่าด้วยเรื่องการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อประเด็นชาวโรฮิงญา โดยมุ่งศึกษาถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในการจัดการและตอบสนองต่อประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคระหว่างปี 2009-2017 และนำปัญหาชาวโรฮิงญามาเป็นกรณีศึกษา งานวิจัยฉบับนี้จะใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ รวมถึงอาศัยทฤษฎีสรรสร้างนิยมเพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์
จากการศึกษาพบว่า การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในการจัดการและตอบสนองต่อประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต้องดำเนินอยู่ภายใต้ข้อจำกัดสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1. ปัจจัยที่เกิดจากภายในภูมิภาค คือ บรรทัดฐานที่ใช้กำกับความสัมพันธ์ภายในองค์กรหรือเป็นที่รู้จักในนามของวิถีอาเซียน ได้ส่งผลต่อการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ รวมถึงส่งผลให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนปราศจากอำนาจเข้าไปตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและลงโทษต่อประเทศผู้กระทำผิด วิถีอาเซียนจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกลายเป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจในการปกป้องประชาชนได้อย่างแท้จริง และ 2. ปัจจัยที่เกิดจากภายนอกภูมิภาค คือ อิทธิพลของบรรทัดฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศภายนอกภูมิภาค ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยภายในรวมถึงการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันจากประเทศภายนอกภูมิภาคมาโดยตลอด เนื่องจากความผิดหวังต่อการจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่มีสาเหตุมาจากการตีความในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างจากภายนอกภูมิภาค รวมถึงการจัดการกับประเด็นปัญหาชาวโรฮิงญาในเรื่องของการตีความเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ไม่มีกฎหมายจารีตประเพณีที่จะสามารถนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือและรองรับกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไปจากเดิม แต่อิทธิพลของบรรทัดฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศภายนอกภูมิภาคที่เข้ามาได้มีการนำมาปรับใช้ให้สอดรับกับวิถีอาเซียน เพื่อนำไปสู่บรรทัดฐานที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถยอมรับได้