Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้เป็นเชิงคุณภาพ มุ่งเน้นศึกษาการตอบสนองต่อการดำเนินการรับผู้ลี้ภัยของรัฐหน้าด่านของสหภาพยุโรปอย่างกรีซในช่วงปีค.ศ. 2015 - 2017 พร้อมทั้งเสนอปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการตอบสนองดังกล่าว ผ่านการวิเคราะห์ด้วยแนวคิดเรื่องกระบวนการยุโรปภิวัตน์ และการเมืองเกี่ยวพัน ในการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและเหล่าประเทศสมาชิก ผ่านมิติทางการเมือง ระบอบการปกครอง และนโยบาย ที่มีความสอดคล้องกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสหภาพยุโรป
ผลการศึกษาพบว่าการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยของกรีซมีลักษณะในการจัดการปัญหาในรูปแบบของการดำเนินนโยบายหรือกระบวนการต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญทั้งภายในและภายนอกที่มีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน โดยจะต้องมีการคำนึงถึงข้อตกลง หรือกฎหมายต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปในฐานะที่กรีซเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก รวมถึงจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอื่นของสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ตามการจัดการผู้ลี้ภัยของกรีซกลับมีการดำเนินการอย่างมีข้อจำกัดจากปัจจัยเรื่อง สมาชิกภาพของสหภาพฯ และปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ เพราะแม้ว่าสหภาพยุโรปมีการบูรณาการความสัมพันธ์แน่นแฟ้น สะท้อนออกมาเป็นแนวทางการดำเนินงานและนโยบายร่วมในด้านต่าง ๆ แต่สำหรับด้านการจัดการปัญหาวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย การเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของประเทศหน้าด่านอย่างกรีซ กลับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการจัดการกับปัญหา เนื่องจากกระบวนการหรือนโยบายร่วมไม่สามารถตอบสนองหรือสร้างความเท่าเทียมต่อการรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศสมาชิก ประกอบกับการที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศจึงส่งผลต่อความเชื่อใจและความน่าเชื่อถือของกรีซในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้กรีซไม่มีศักยภาพมากพอที่จะขอปรับเปลี่ยนข้อกำหนดที่ไม่เป็นธรรมต่อการจัดการผู้ลี้ภัยภายในประเทศได้ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองปัจจัยเปรียบเสมือนข้อท้าทายของรัฐบาลกรีซซึ่งจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้แนวทางในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ