Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์กลไกในการสร้างและรักษาฐานเสียงในจังหวัดเชียงรายของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากการลงภาคสนาม การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลในพื้นที่ ตลอดจนการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารงานวิจัย และสถิติการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย มีกลไกสำคัญในการสร้างและรักษาฐานเสียงในจังหวัดเชียงราย 4 กลไก คือ 1) นโยบายพรรค 2) ศูนย์ประสานงานพรรคการเมือง 3) ผู้สมัครสังกัดพรรค และ 4) หัวคะแนน พรรคไทยรักไทยมีความพยายามในการจัดตั้งกลไกทั้ง 4 ด้านเพื่อสร้างระบบการจัดการฐานเสียงรูปแบบใหม่ที่ยึดโยงกับพรรคโดยตรง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ให้ทำพรรคสามารถครองที่นั่งส.ส.ในทุกเขตของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 - 2554 แต่ทั้งสามพรรคประสบความท้าทายในการสร้างและรักษาฐานเสียงจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน คือ การยึดติดตัวผู้นำพรรค และอิทธิพลของกลุ่มมุ้งภายในพรรค ทำให้การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งถูกผูกขาดโดยคนใกล้ชิดแกนนำ และบทบาทของศูนย์ประสานงานพรรคยังถูกจำกัด เนื่องจากส.ส.หรือผู้สมัครมีบทบาทในการบริหารจัดการศูนย์ประสานงาน ทำให้ศูนย์ประสานงานขึ้นตรงกับส.ส.หรือผู้สมัครมากกว่าพรรค ปัจจัยภายนอก คือ การยุบพรรค และการรัฐประหาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคมีอุปสรรคในการพัฒนากลไกในการสร้างและรักษาฐานเสียงให้มั่งคง นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า พรรคมุ่งเน้นชัยชนะในการเลือกตั้งเฉพาะหน้ามากกว่าการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อส่งเสริมการสร้างฐานเสียงระยะยาวของพรรค ตามทฤษฎีการสร้างความเข้มแข็งและประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองอย่างแนวคิดตะวันตก