Abstract:
การศึกษาเรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศและการแจ้งเตือนต่อสาธารณชนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหา สาเหตุ และลักษณะเฉพาะของการกระทำผิดทางเพศ รวมถึงมาตรการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดทางเพศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ศึกษาหลักการ แนวคิด รูปแบบ และวิธีการนำระบบขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศและการแจ้งเตือนต่อสาธารณชนมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเพศ ที่ได้ดุลยภาพระหว่างการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมกับสิทธิเสรีภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบแนวทางในการที่จะนำ “การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศและการแจ้งเตือนต่อสาธารณชน” มาใช้พัฒนาฐานข้อมูลการกระทำผิดทางเพศในกระบวนการยุติธรรมของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการค้นคว้าเอกสารวิชาการ กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ประกอบกับการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและหาแนวทางสรุป
ผลการวิจัยพบว่า การกระทำผิดทางเพศเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษาหรือดำเนินการอย่างเหมาะสม จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะกระทำผิดทางเพศซ้ำเมื่อกลับเข้ามาสู่สังคมได้ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ประเทศฝรั่งเศส และอีก 27 ประเทศ มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศและการแจ้งเตือนต่อสาธารณชน เป็นมาตรการหนึ่งในการดำเนินการกับผู้กระทำผิดทางเพศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดทางเพศซ้ำ แต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการดังกล่าว
ดังนั้น ผู้วิจัยเห็นว่าประเทศไทยควรตรากฎหมายในการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศและการแจ้งเตือนต่อสาธารณชนขึ้นเพื่อให้การป้องกันปราบปรามการกระทำผิดทางเพศในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานในการจัดเก็บและบริหารข้อมูล มีการบูรณาการข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศกับฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรเดิม แบ่งประเภทผู้กระทำผิดทางเพศตามความรุนแรงของการกระทำผิด และกำหนดระยะเวลาการขึ้นทะเบียน 5 ปี 15 ปี และ 25 ปี ตามลำดับ สำหรับการเปิดเผยข้อมูล ผู้วิจัยกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศที่มีความรุนแรงและกระทำต่อเหยื่อที่เป็นเด็กเท่านั้น เพื่อรักษาดุลยภาพของความปลอดภัยของสมาชิกในสังคมโดยรวมและสิทธิ เสรีภาพของผู้กระทำผิดทางเพศ โดยผู้วิจัยได้กำหนดให้มี การจำกัดถิ่นที่อยู่ การจำกัดอาชีพ และการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศด้วย อันเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในสังคม และประสิทธิภาพการป้องกันการกระทำผิดทางเพศ