Abstract:
ตลอดหลายทศวรรษนโยบายข้าวได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่เข้าไปใช้แทรกแซงสังคมชนบท ดังนั้นวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้จึงต้องการวิเคราะห์ถึงการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมชนบทผ่านการศึกษานโยบายข้าวที่ถูกกำหนดนโยบายมาในในช่วงบริบทการเมืองแบบอำนาจนิยม โดยใช้โครงการนาแปลงใหญ่เป็นกรณีศึกษา ผ่านการตั้งคำถามว่า“ในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการจัดสถาบันระหว่างรัฐกับสังคมชนบทผ่านการใช้โครงการนาแปลงใหญ่อย่างไร” และ “โครงการนาแปลงใหญ่มีลักษณะการทำงานอย่างไร” เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว งานวิจัยนี้ใช้กรอบการศึกษาสถาบันนิยมใหม่แบบสถาบันนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Institutionalism) และแนวการศึกษาแบบพหุภาคี (Corporatism) เป็นกรอบในการวิเคราะห์ โดยใช้นาแปลงใหญ่ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมภายใต้นโยบายข้าวของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันประกอบด้วย บรรทัดฐานในการตัดสินใจ กลไกรัฐในการดำเนินนโยบาย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นผลมาจากจุดเปลี่ยนสำคัญ (critical juncture) คือวิกฤตินโยบายจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ส่งผลให้นโยบายข้าวในรัฐบาลปัจจุบันมีลักษณะคือ รัฐเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรแบบครบวงจรมากกว่าที่จะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดโดยตรง และเน้นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อเข้ามาจัดการการรวมกลุ่มและควบคุมวิถีชีวิตประจำวันของชาวนาในชนบทภายใต้แนวคิดแบบประชารัฐ โดยมีรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นตัวแสดงทางนโยบายที่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ และมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างตัวแสดงทางนโยบายภายใต้การจัดสถาบันดังกล่าวทั้งในรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อค้ำจุนความสัมพันธ์นั้นไว้ ซึ่งผลลัพธ์ของการจัดความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในรูปแบบพหุภาคีโดยรัฐ (state corporatism) อย่างไรก็ดีจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ทำให้พบว่ารัฐยังไม่สามารถสถาปนาความร่วมมือดังกล่าวได้แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจภายใต้บริบทการเมืองแบบอำนาจนิยมก็ตาม และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบริบทการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 แต่นาแปลงใหญ่ยังคงมีการขับเคลื่อนในลักษณะเดิม เพียงแต่ถูกลดระดับความเข้มข้นลงไปเท่านั้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวถูกวางแผนให้เป็นโครงการระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นแม้มีการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมือง แต่กลไกที่ใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายก็ยังเป็นกลไกเดิมที่มีที่มาจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ