Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษารากฐานที่มาและความเข้าใจของการที่ฮอบส์สลายเส้นแบ่งระหว่างรูปแบบการปกครองที่ถูกและรูปแบบการปกครองที่ผิด/บกพร่อง อันนำไปสู่รูปแบบการปกครองของฮอบส์ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของทรราช ผลการศึกษาพบว่า ในทรรศนะของฮอบส์นั้น เขาได้เสนอว่า ชื่อเรียกของรูปแบบการปกครองนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าชื่อเรียกที่ประชาชนรู้สึกชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น ดังนั้น ชื่อเรียกของรูปแบบการปกครองจึงไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรเลย ทั้งนี้ รากฐานความคิดดังกล่าวมาจากความคิดของฮอบส์เรื่องธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งวางอยู่บนฐานคำอธิบายมนุษย์อันมีลักษณะเชิงกลไก สำหรับฮอบส์แล้ว มนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชัง (ความตาย) และความปรารถนาอยาก (อำนาจ ชื่อเสียง ความรุ่งโรจน์) มนุษย์แต่ละคนต่างเป็นผู้กำหนดนิยามความหมายของคุณธรรมและศีลธรรมด้วยตนเอง กระทั่งนำไปสู่สภาวะธรรมชาติที่เรียกได้ว่าเป็นสงครามของทุก ๆ คนต่อต้านทุก ๆ คน ในสภาวะเช่นนั้นมนุษย์ทุกคนเต็มไปด้วยความรู้สึกกลัวในความตายอันทารุณโหดร้าย ความกลัวดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ใช้สิทธิตามธรรมชาติในการรักษาชีวิตของตนเองให้รอดพ้นจากความตาย และความกลัวดังกล่าวยังเป็นแรงผลักดันไปสู่การสร้างองค์อธิปัตย์หรือรัฐขึ้นมา ทั้งนี้ ไม่ว่าประชาชนจะเรียกองค์อธิปัตย์ว่าอะไรนั้นไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย สิ่งที่สำคัญเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ อำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จขององค์อธิปัตย์ที่สามารถสร้างให้เกิดสันติสุขและความสงบเรียบร้อย ภายใต้รูปแบบการปกครองดังกล่าวนี้ ประชาชนล้วนอยู่ภายใต้อำนาจและเจตจำนงขององค์อธิปัตย์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าฮอบส์จะปฏิเสธการมีอยู่ของทรราช แต่นักวิชาการปัจจุบันจำนวนหนึ่งตีความว่า ปรัชญาการเมืองของฮอบส์เป็นรากฐานอันหนึ่งที่รองรับทรราชสมัยใหม่