Abstract:
งานวิจัยเรื่ององค์กรสาธารณประโยชน์ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขนาด ขอบเขต การจ้างงาน สถานภาพทางการเงินและทางกฎหมาย ความเป็นมา บทบาทและคุณลักษณะที่เด่นชัดขององค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อหาลู่ทางเพิ่มขีดความสามารถและสนับสนุนการสร้างเครือข่าย สร้างกระบวนการรับรู้ และชี้ให้ภาครัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนสาธารณชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของภาคสาธารณประโยชน์ รวมทั้งนำเสนอข้อมูลและจัดทำฐานข้อมูลขององค์กรสาธารณประโยชน์ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ขององค์กรสาธารณประโยชน์เปลี่ยนรูปแบบและบทบาทจากการทำหน้าที่เป็นองค์กรการกุศลและให้บริการสังคม ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองและรัฐบาลเผด็จการทหาร มาเป็นองค์กรมุ่งหาความหมายและคำตอบของการพัฒนา และปฏิบัติการการพัฒนาในช่วง พ.ศ. 2516-2535 จากปฏิบัติการการพัฒนาที่พบว่าคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านและชุมชน เนื้องานจึงปรับจากการให้สวัสดิการแก่ผู้เดือดร้อนยากไร้ในลักษณะที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นกลุ่มเป้าหมายมาเป็นการพัฒนาสังคมและชุมชนแบบองค์รวมให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิของผู้ยากไร้เพิ่มเติมจากเรื่องสวัสดิการที่แต่ละกลุ่มพึงได้รับในการทำงานด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย สังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เกิดการปรับเพิ่มหรือทำงานด้านการพัฒนาสังคมทั้งหมด แม้ว่าจะเริ่มจากการทำงานด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เกิดความเชื่อในการเคลื่อนไหวทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดสังคมที่ดีขึ้น มีการสร้างเครือข่ายของคณะองค์กรที่ทำงานด้านต่าง ๆ และการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันประเด็นปัญหาเพื่อเป้าหมายของการแก้ปัญหาในประเด็นนั้น ๆ รวมทั้งสร้างพลังร่วมกันเพื่อการพัฒนาสังคมไทยโดยรวม การเคลื่อนตัวในช่วง พ.ศ. 2535 และหลังจากนั้น เน้นในการเคลื่อนตัวผลักดันประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และกระบวนการเรียกร้องและร่างรัฐธรรมนูญ และการติดตามกระบวนการโลกาภิวัตน์ของมหาอำนาจและทุนข้ามชาติ ประเด็นการเคลื่อนไหวเป็นการชี้ให้เห็นภัยจากอำนาจเหนือรัฐ นอกเหนือจากอำนาจของรัฐ อำนาจเหนือรัฐที่เป็นเป้าหมายของการรณรงค์คืออำนาจทุนข้ามชาติในรูปของบริษัทข้ามชาติและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ คือ ธนาคารโลก องค์กรการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย วิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน พ.ศ. 2540 ซึ่งเริ่มในประเทศไทยย้ำให้เห็นชัดเจนว่าองค์กรสาธารณประโยชน์จำเป็นจะต้องผนึกพลังกันทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจและป้องกันไม่ให้อำนาจเหนือรัฐเข้ามามีอิทธิพลต่อแนวทางการพัฒนาประเทศของแต่ละประเทศ ในเชิงปริมาณ งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาองค์กรที่ปรากฏในทำเนียบองค์กรที่ขออนุญาตจดทะเบียนสมาคมและมูลนิธิกับสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2540 มี 8,406 สมาคมและมูลนิธิที่จดทะเบียนและ 497 องค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียน รวมทั้งหมด 8,903 องค์กร รายชื่อองค์กรไม่จดทะเบียนรวบรวมจากทำเนียบต่าง ๆ ที่ได้มีการจัดทำขึ้น คณะวิจัยแยกกิจกรรมขององค์กรเหล่านี้เป็น 11 ด้าน คือ วัฒนธรรมและสันทนาการ การศึกษาและวิจัย สุขภาพอนามัย บริการสังคม สิ่งแวดล้อม การพัฒนาชนบทและเมือง กฎหมาย การรณรงค์ และการเมือง องค์กรการกุศลและให้ทุน กิจกรรมระหว่างประเทศ ศาสนา และองค์กรวิชาชีพ ผลการวิจัยพบว่า เกิดการจ้างงานประมาณปีละ 70,000 คน อาสาสมัครปีละประมาณ 85,000 คน การใช้จ่ายขององค์กรประมาณปีละ 12,000-16,000 ล้านบาท และรายรับขององค์กรทั้งหมดประมาณปีละ 24,000 ล้านบาท การคำนวณตัวเลขเหล่านี้ใช้ค่าประมาณจากการสำรวจองค์กรสังคมสงเคราะห์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2540 และการสำรวจเพิ่มเติมของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉพาะองค์กรที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในปี พ.ศ. 2542 รวมทั้งรายงานสำรวจกลุ่มองค์กรเฉพาะด้านที่มีผู้ดำเนินการและจัดทำรายงานไว้ การศึกษาครั้งนี้เป็นการพยายามศึกษาภาพรวมขององค์กรสาธารณประโยชน์ทั้งหมดในทุก ๆ ด้านที่มีคุณลักษณะเป็นองค์กรที่ (1) ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสาธารณประโยชน์ (2) ดำเนินงานอย่างเอกเทศ (3) ไม่แสวงหากำไรและไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์แก่สมาชิก (4) ไม่ใช่องค์กรรัฐ (5) ไม่ใช่องค์กรศาสนาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศาสนาอย่างเดียว (6) ไม่ใช่องค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเมือง (7) ไม่รวมสหภาพ แรงงาน และ (8) ไม่รวมองค์กรประชาชนท้องถิ่น