Abstract:
การศึกษาเรื่อง การจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ในโรงเรียน : บทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยเยาวชน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบาย รูปแบบ กระบวนการ และแนวคิด รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ในการนำกระบวนการเชิงสมานฉันท์ใช้จัดการความขัดแย้งในโรงเรียน คุณลักษณะที่ดีของผู้ไกล่เกลี่ยเยาวชน และเสนอแนวทางในการพัฒนาเครื่องมือจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีที่เหมาะสมกับบริบทของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโรงเรียน โดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยเทคนิคการวิจัยเอกสารและใช้กรณีศึกษาโรงเรียนพนมสารคาม”อดุลพนมสารคาม” การสัมภาษณ์แบบเชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ แล้วประเมินผลตามตัวแบบซิป (CIPP Model) และวิเคราะห์บทบาทผู้ไกล่เกลี่ยเยาวชน
ผลการวิจัยพบว่า บทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยเยาวชนในการจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ในโรงเรียน 1) เป็นผู้ช่วยสนับสนุนให้คู่ขัดแย้งสามารถหาทางออกที่ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย 3) มีความเอาใจใส่คู่ขัดแย้งและแสดงออกถึงความต้องการให้เกิดการไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 2) ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเหตุผลที่ควรให้ผู้ไกล่เกลี่ยเยาวชนเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยในโรงเรียน 1) บทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยเยาวชนทำงานแตกต่างกับการใช้กฎระเบียบของโรงเรียน 2) เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การจัดการความขัดแย้งเชิงสันติวิธี 3) ผู้ไกล่เกลี่ยเยาวชนสามารถเป็นกลไกสำคัญในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ดังนั้น จากการวิจัยที่พบว่าผู้ไกล่เกลี่ยเยาวชนมีความเหมาะสมในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในโรงเรียน ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะให้มีการขยายผลนำกระบวนการการจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ไปใช้ในสถานศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะอาชีวะ และมหาวิทยาลัยด้วย