Abstract:
งานวิจัยเรื่อง เส้นทางชีวิตการกระทำผิดของผู้ต้องขังหญิงที่กระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เก็บข้อมูลจากผู้ต้องขังหญิงจำนวน 7 คน จากทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเส้นทางชีวิตการกระทำผิดของผู้ต้องขังหญิงที่กระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด โดยก่อคดีตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กและเยาวชน และเพื่อศึกษามูลเหตุจูงใจของการก่ออาชญากรรมของผู้ต้องขังหญิงที่กระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด โดยก่อคดีตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กและเยาวชน จากนั้นจะเป็นการศึกษาเพื่อสร้างแนวทางในการป้องกันการกระทำผิดของเด็ก เยาวชนและผู้หญิง
ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด โดยก่อคดีแรกครั้งยังเป็นเด็กและ เยาวชน มีมูลเหตุจูงใจมาจากปัจจัยด้านอายุ ครอบครัว กลุ่มเพื่อนในขณะที่เริ่มเสพยาเสพติด สภาพจิตใจ สภาพสังคม การศึกษา การติดยาและการบำบัด และสภาพเศรษฐกิจ โดยเรียงลำดับจากมูลเหตุจูงใจที่เกี่ยวข้องจากมากไปน้อยตามลำดับ มูลเหตุจูงใจด้านอายุที่เริ่มเสพยาเสพติด ผลการศึกษาพบว่า ยิ่งกรณีมีการเริ่มใช้ยาเสพติดอายุน้อยเท่าใดก็จะมีโอกาสเสพติดต่อเนื่องไปยาวนานเท่านั้น ซึ่งกรณีศึกษาทุกรายไม่ได้เข้ารับการบำบัดให้เลิกเสพอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ครั้งแรก ส่งผลให้เมื่อพ้นโทษ จึงกลับมาเสพ และกระทำผิดซ้ำ มูลเหตุจูงใจรองลงมาได้แก่ครอบครัว การขาดการดูแลเอาใจใส่ และไม่มีความผูกพันกับครอบครัว ส่งผลให้กรณีศึกษา เข้าสู่วงจรยาเสพติดได้ง่าย ไม่มีสมาชิกในครอบครัวคอยสอดส่องดูแล หรือห้ามปราม ถัดมาคือกลุ่มเพื่อน ซึ่งพบว่า เป็นมูลเหตุจูงใจที่มีอิทธิพลมากที่สุด ในการชักชวนให้กรณีศึกษาเริ่มลองยาเสพติด มูลเหตุจูงใจถัดมา ได้แก่สภาพจิตใจของกรณีศึกษา จากการศึกษาพบว่า กรณีศึกษามักมีปัญหาทางด้านครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้น ตัวอย่างเช่น ความไม่พอใจ ที่บิดาของตนมีภรรยาใหม่ จึงแสดงความก้าวร้าวและก่อปัญหา หรือ การที่กรณีศึกษาเคยโดนลวนลามทางเพศโดยญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านเดียวกัน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจอย่างมาก และเมื่อไม่สามารถพึ่งพิงคนในครอบครัวได้ การหันหน้าไปหาเพื่อนที่มีปัญหาเหมือนกัน หรือ หันมาใช้ยาเสพติดช่วยให้ผ่านช่วงเวลาเลวร้ายไปในแต่ละวัน จึงทางออกสำหรับกรณีศึกษา และมูลเหตุจูงใจอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการกระทำผิดซ้ำได้แก่ สภาพสังคม การศึกษา การติดยาและการบำบัด และสภาพเศรษฐกิจ ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะของการวิจัยพบว่าแนวทางในการป้องกันการกระทำผิดของเด็ก เยาวชนและผู้หญิง ได้แก่ การบำบัดให้หายขาดตั้งแต่ครั้งแรกของการเสพยาเสพติด รวมถึงการทบทวนการลงโทษแบบเดิม ร่วมกับการปรับใช้ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) และการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน และชุมชนเอง ช่วยกันสอดส่องดูแล เฝ้าระวังพฤติกรรมของเด็กในชุมชน พร้อมทั้งให้ความรู้ถึงโทษของยาเสพติด มีการฝึกงานอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด มีการพบปะเยี่ยมเยียนสมาชิกในชุมชนจากผู้นำของชุมชนเป็นประจำ และให้โอกาสกลับคืนสู่สังคมสำหรับสมาชิกที่ผิดพลาด เพื่อป้องกันปัญหาการกระทำผิดซ้ำอย่างถาวร