Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาบทบาทของกลุ่มการเมืองในฟิลิปปินส์ต่อนโยบายของประธานาธิบดีโรดริโก
ดูเตอร์เตที่มีต่อจีน โดยมุ่งพิจารณาบทบาทของกองทัพ รัฐสภา หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน จากการศึกษาพบว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ กลุ่มการเมืองภายในประเทศทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุล (Checks and Balances) ทำให้ดูเตอร์เตไม่อาจดำเนินนโยบายต่อจีนตามที่มุ่งหวัง โดยดูเตอร์เตต้องการมีความใกล้ชิดกับจีนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และไม่ต้องการนำปัญหาทะเลจีนใต้มาก่อให้เกิดความขัดแย้งกับจีนภายหลังศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Permanent Court of Arbitration – PCA) มีคำตัดสินข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่ส่งผลในทางบวกต่อฟิลิปปินส์ กลุ่มการเมืองภายในเรียกร้องให้ดูเตอร์เตใช้คำตัดสินดังกล่าวเพื่อยืนยันอำนาจอธิปไตยของฟิลิปปินส์ เพื่อลดการแผ่ขยายอำนาจในทะเลจีนใต้ของจีน และตอบโต้พฤติกรรมรุกล้ำของจีนในน่านน้ำฟิลิปปินส์บริเวณทะเลจีนใต้ ขณะที่ดูเตอร์เตไม่ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับจีน จึงใช้วิธีแสวงหาความร่วมมือกับจีน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของดูเตอร์เตทำให้ฟิลิปปินส์ดูเหมือนประเทศเล็กที่ต้องทำตัว
อ่อนน้อมให้กับมหาอำนาจอย่างจีน ท่าทีดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มและสถาบันการเมืองในประเทศมีปฏิกิริยาเชิงลบทั้งต่อดูเตอร์เตและจีน รวมถึงกระตุ้นกระแสชาตินิยมที่เรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่แข็งกร้าวตอบโต้จีน ส่งผลให้ดูเตอร์เตต้องลดการโอนอ่อนให้กับจีน ในแง่นี้ชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยที่กลุ่มการเมืองและสถาบันที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลสามารถมีเสรีภาพในการทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพนี้ ส่งผลให้ผู้นำต้องรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนในระดับหนึ่ง แม้ว่าผู้นำจะมีลักษณะอำนาจนิยมก็ตาม