Abstract:
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของสังคมไทยต่อทายาทชายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ซึ่งมีรูปแบบของสาเหตุความรุนแรงที่มี “ลักษณะพิเศษ” เนื่องจากการใช้ความรุนแรงต่อทายาทชายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) นั้นล้วนเกิดจากการมลทินประทับ (Stigmatization) ว่าบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานทางสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ “ผิดปกติ” และ “น่าอับอาย” จึงส่งผลให้พ่อและแม่เลือกวิธีการใช้ความรุนแรงในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเบี่ยงเบน (Deviant Behavior) ของทายาทให้กลับสู่ความเป็น “ปกติ” ตามบรรทัดฐานของสังคมที่ได้กำหนดไว้
จากการศึกษาวิจัย พบว่า สาเหตุของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวต่อทายาทเพศต้องห้าม (LGBTQ) ของสังคมไทย ล้วนเกิดจากการมลทินประทับ (Stigmatization) ของสมาชิกในครอบครัว ว่าเป็นสิ่งที่ “แตกต่าง” ไปจากบรรทัดฐานทางสังคมโดยทั้งสิ้น ซึ่งการมลทินประทับต่อเพศสภาพที่หลากหลาย (LGBTQ) ของครอบครัวในสังคมไทยสามารถจำแนกได้ 4 รูปแบบ ดังนี้ 1) การมลทินประทับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ว่าเป็นผู้ที่มีความ “ผิดปกติ” “วิปริต” หรือเป็นความบกพร่องทางจิตรูปแบบหนึ่ง 2) การมลทินประทับว่าการมีทายาทชายที่เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เป็นการบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของครอบครัว 3) การมลทินประทับว่าทายาทชายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ไม่สามารถสืบต่อสกุล / วงศ์ตระกูลได้ 4) การมลทินประทับว่าอนาคตของทายาทชายที่เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) จะต้องเผชิญกับความล้มเหลวในชีวิต ซึ่งจากการวิพากษ์โดยทฤษฎีเควียร์ (Queer Theory) ต่อการมลทินประทับของครอบครัวไทยต่อทายาทชายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ทั้ง 4 รูปแบบ ก็ถือว่าเป็นการยืนยันถึงการ ”ดำรงอยู่” ของบรรทัดฐานทางสังคมแบบกลุ่มคนรักเพศตรงข้าม (Heteronormativity) ว่ายังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยอยู่
ทั้งนี้ แนวทางการยุติความรุนแรงความรุนแรงในครอบครัวต่อทายาทเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัว ชุมชน และภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ควบคู่ไปกับการรื้อถอนการประกอบสร้างทางสังคม (Deconstruction) ว่าด้วยเรื่องของไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทย เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเสมอภาคกันทางเพศ ตลอดจนการเคารพสิทธิและเสรีภาพในการเป็น “มนุษย์” คนหนึ่ง