สารนิพนธ์ชิ้นนี้มุ่งพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน การลงทุนด้านการเกษตรของบริษัทมิตรผลในกัมพูชา กับนโยบายสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจในกัมพูชา และวิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบด้านความมั่นคงมนุษย์ต่อชาวกัมพูชาและประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร โดยสารนิพนธ์ชิ้นนี้ใช้กรอบสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจและการเมืองในฐานะปัจจัยสำคัญสำหรับการส่งเสริมความมั่นคงมนุษย์ในการวิเคราะห์
จากการศึกษาพบว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นนโยบายที่อำนวยความสะดวกและสร้างโอกาสให้แก่กลุ่มทุนภาคการเกษตรภายในภูมิภาคให้เข้าไปลงทุนและขยายฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน โดยกลุ่มทุนภาคการเกษตรของไทยในกรณีนี้คือบริษัทมิตรผล ซึ่งมีศักยภาพสูง และมีความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงขยายการลงทุนและการผลิตอ้อยและน้ำตาลเข้าไปในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลกัมพูชาต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้ประกาศโครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดธุรกิจด้านการเกษตรให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชา ซึ่งหมายถึงการขยายตัวของการเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อดำเนินโครงการเพาะปลูกพืชและทำอุตสาหกรรมเกษตร แต่กระบวนการดังกล่าวกลับสร้างผลกระทบด้านความมั่นคงมนุษย์ เกิดการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนจากปัญหาการแย่งยึดที่ดิน ด้วยวิธีการบังคับขับไล่ชาวบ้านจากที่ดิน และการใช้ความรุนแรง ทั้งยังทำให้เกิดปัญหามลภาวะหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงมนุษย์ด้านสิ่งแวดล้อมภายในภูมิภาค ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับนโยบายของอาเซียนที่ระบุว่าจะมุ่งส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน การพัฒนาที่ยั่งยืน และปกป้องสิ่งแวดล้อม
รัฐศาสตรมหาบัณฑิต