Abstract:
ในปัจจุบันสังคมโลกเริ่มตื่นตัวในเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมตามแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกันมากขึ้นในหลายประเด็น สิทธิความเท่าเทียมกันในเรื่องของการแต่งงานเป็นหนึ่งประเด็นที่หลายประเทศที่เป็นประเทศเสรีนิยมให้ความสนใจ ซึ่งตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาการแต่งงานของคนเพศเดียวกันกลายเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมใหม่ที่เป็นแนวโน้มระหว่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศฝั่งตะวันตก ซึ่งการที่จะสามารถแต่งงานกันได้นั้นจะต้องได้มีกฎหมายที่เอื้อให้บุคคคลกลุ่มนี้สามารถแต่งงานได้ ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่เปิดเสรีและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นเป็นประเทศแรก ๆ ในเวทีระหว่างประเทศที่มีการอนุญาตให้บุคคลที่มีเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ซึ่งมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการแต่งงานที่ให้คำจำกัดความของคำว่าการแต่งงานจากที่ระบุว่า “ผู้ชาย” และ “ผู้หญิง” กลายเป็น “บุคคลสองคน” แทน อย่างไรก็ดีกระบวนการในการแก้ไขข้อกฎหมายล้วนแล้วต้องผ่านการพิจารณาซึ่งต้องมีผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบและทั้งในรัฐสภาและในภาคประชาสังคม ความท้าทายเหล่านี้นำไปสู่ข้อถกเถียงทางการเมืองในประเด็นดังกล่าว
สารนิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงประเด็นการถกเถียงกันในเรื่องความเท่าเทียมกันของการแต่งงานโดยศึกษาในเรื่องของการตีความสิทธิมนุษยชนที่เป็นภาษาด้านศีลธรรมระหว่างประเทศผ่านมุมมองเรื่องสิทธิของกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันของแคนาดา และเพื่อศึกษาถึงหลักหรือแนวคิดของการถกเถียงระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานระหว่างผู้ที่มีเพศเดียวกัน โดยในการศึกษาได้นำกรอบแนวคิดทางสิทธิมนุษยชนที่สิทธิมนุษยชนถูกตีความได้ในหลายแง่มุมมองของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มคน มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ถึงข้อถกเถียงของกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้ที่ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ที่มุ่งประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศในเรื่องการแต่งงาน โดยเฉพาะการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันคือกลุ่ม LGBT โดยศึกษาจากมุมมองของตัวแทนของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และนำมาวิเคราะห์และอธิบายเชิงพรรณนา การศึกษาค้นคว้าสารนิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาจากเอกสารในรูปแบบทุติยภูมิ ได้แก่ เอกสารที่เกี่ยวกับกฎหมายการแต่งงานของแคนาดา หนังสือ บทความทางวิชาการ เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับแคนาดาที่มีรัฐบาลแคนาดาสนับสนุน เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา
จากการศึกษาพบว่า ประการแรก การถกเถียงในเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอยู่ในประเด็นเรื่องสิทธิและฐานความคิดของตัวแสดงทั้งในรัฐสภาและประชาสังคมนั้นกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ที่ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องของการมองและตีความสิทธิที่แต่กต่างกัน ผู้ที่สนับสนุนในรัฐสภาคือพรรคเสรีนิยม ส่วนภาคประชาสังคมได้แก่ ผู้ที่เรียกร้องสิทธิการแต่งงานคือคู่รักร่วมเพศ และโบสถ์ในชุมชนเมืองโตรอนโตโดยใช้ภาษาสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล ส่วนผู้ที่ต่อต้านในรัฐสภาคือพรรคเสรีนิยมและในภาคประชาสังคมคือสมาคมเพื่อการแต่งงานและครอบครัวเมืองออนแทรีโอ โดยใช้ภาษาทางสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเรื่องของสิทธิครอบครัวที่ควรสงวนการแต่งงานให้เฉพาะผู้หญิงและผู้ชายเท่านั้นเพราะครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม รวมถึงสิทธิเด็กที่ควรจะได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่เป็นเพศชายและหญิงด้วย ประการที่สอง รัฐบาลพยายามผลักดันให้ผู้ที่มีเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ เพราะรัฐบาลต้องการที่จะเข้ามามีบทบาทเพื่อจัดระเบียบพฤติกรรมของกลุ่ม LGBT ให้อยู่ภายใต้บรรทัดฐานการรักร่วมเพศ หรือ Homonormativity ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้กลุ่ม LGBT เป็นคนปกติที่จะสามารถแต่งงานกันโดยการรับการรับรองของกฎหมายที่ผู้ที่เป็นกลุ่ม LGBT ที่ต้องการที่จะแต่งงานจึงจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของรัฐบาล ประการสุดท้าย ตัวแสดงในรัฐสภาและภาคประชาสังคมถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่ในระดับปัจเจกบุคคลล้วนแล้วแต่มีมุมมองทางสิทธิมนุษยชนและใช้ภาษาทางสิทธิมนายชนตามมุมมองของตนเองได้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มเสรีนิยมเพียงฝ่ายเดียวแต่กลายมาเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมืองโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมในยุคปัจจุบันเช่นกัน