Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษานโยบายต่างประเทศของจีนที่มีต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะภายใต้การดำเนินงานของกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (Lancang - Mekong Cooperation: LMC) ระหว่างปี ค.ศ. 2016 ถึง 2020 เพื่อวิเคราะห์แรงจูงใจที่ทำให้จีนต้องการจัดตั้งกรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ (Power transition theory) ของ A.F.K. Organski และ Jacek Kugler เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ การศึกษาครั้งนี้พบว่า แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้จีนจัดตั้งกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง มี 3 ประการ ได้แก่ (1) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้อย่างเต็มที่ (2) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงบทบาทนำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจากมหาอำนาจนอกภูมิภาค และ (3) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของตนให้แข็งแกร่งขึ้น โดยในท้ายที่สุด กรอบความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ (Dominant power) ที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ