Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการตอบคำถามที่ว่า ข้าราชการสำนักการสังคีตมีกระบวนการยอมรับและต่อรองกับนิยามความเป็นไทยและนโยบายวัฒนธรรมของรัฐอย่างไร มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษานโยบายวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นไทยของรัฐผ่านสำนักการสังคีต (2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนิยามความเป็นไทยของรัฐ
กับอัตลักษณ์องค์กรของสำนักการสังคีตและอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของข้าราชการสำนักการสังคีต (3) เพื่อวิเคราะห์กระบวนการทำงาน การเข้าใจตัวตน และแรงจูงใจของข้าราชการสำนักการสังคีต ในแง่ของการยินยอม
และการต่อรองนิยามความเป็นไทยของรัฐ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก
แบบกึ่งโครงสร้างกับข้าราชการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตั้งแต่ระดับปฏิบัติงานไปจนถึงระดับผู้ทรงคุณวุฒิ
จำนวน 19 ราย ด้วยวิธีการวิเคราะห์สาระสำคัญ (thematic analysis) โดยใช้แนวคิดทฤษฎีอำนาจนำ ชีวอำนาจ
(bio-power) วาทกรรมและการต่อรองอัตลักษณ์ จากการศึกษาพบว่า 1. ข้าราชการสำนักการสังคีตได้รับการปลูกฝังนิยามความเป็นไทยของรัฐผ่านกระบวนการสร้างตัวตนด้วยกลไกต่างๆ ทั้งด้านวิชาชีพที่ฝึกฝนมา และด้านวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้ข้าราชการยอมรับอำนาจนำภายใต้วาทกรรม “ไทยจารีต” อย่างแนบเนียน เพื่อมุ่งควบคุมร่างกายและความคิด
2. แม้ว่าจะมีการควบคุมร่างกาย จิตสำนึก และพฤติกรรมให้ยอมรับการผลิตซ้ำนิยามความเป็นไทยของรัฐ แต่ด้วยเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมต่างๆ และบริบททางสังคมที่ได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ประกอบกับความมุ่งหวังที่จะปฏิบัติงานตามนโยบายวัฒนธรรมได้อย่างราบรื่น ทำให้เกิดการต่อรองจนบางสิ่ง
ได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการต่อรองกับอำนาจนำหรือวาทกรรม “ไทยจารีต” ในที่นี้มี 2 มิติ มิติแรก คือ การต่อรองในมิติรูปแบบการแสดง เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของฉาก เครื่องแต่งกาย บทการแสดง เป็นต้น ให้ก้าวทันกับยุคสมัยแต่ยังคงสืบทอดนิยามความเป็น “ไทยจารีต” ของรัฐพร้อมทั้งอัตลักษณ์ขององค์กร ในขณะที่ “แก่นแท้”ของการแสดงนาฏดุริยางคศิลป์เชิงอนุรักษ์ยังคงอยู่ และมิติที่สอง คือ การต่อรองในเชิงความคิดเกี่ยวกับนโยบายและองค์กร เช่น เรื่องอัตรากำลังคน งบประมาณ และสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการผลักดันหรือส่งเสียงในองค์กรแต่ก็มีเมล็ดพันธุ์ความคิดที่ผู้นำองค์กรน่าจะนำไปปรับใช้ต่อไป