Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 1) เพื่ออธิบายที่มาของการกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง แนวคิด อุดมการณ์ และ 2) เพื่อวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดของการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง รวมทั้งวิธีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยการได้รับความช่วยเหลือ รวมทั้งอุปสรรคต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตของการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง (Semi structure in-depth interview) โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองมาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ซึ่งกลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และหมายจับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ (กฎหมายอาญา มาตรา 112) การดำเนินนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีลักษณะทิศทางแบบแนวดิ่งจากชนชั้นปกครองมาสู่ประชาชน ประชาชนที่มีความเห็นต่างจึงมีความกังวลถึงความไม่ปลอดภัยจึงต้องลี้ภัยเพื่อเอาตัวรอด กลุ่มตัวอย่างได้ใช้กระบวนการลี้ภัยหรือช่องทางหลบหนีในลักษณะแบบไม่เป็นทางการจากประเทศต้นทาง โดยใช้เส้นทางธรรมชาติเพื่อเข้าสู่ประเทศปลายทาง และมีบางกลุ่มตัวอย่างใช้การเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อเข้าสู่ประเทศปลายทางในฐานะนักท่องเที่ยว การดำรงชีวิตเมื่อเป็นผู้ลี้ภัยมีการใช้ชีวิตที่ยากลำบากตามสภาพของประเทศที่ได้เดินทางไป กลุ่มตัวอย่างได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนในการดำเนินการประสานงานกับประเทศปลายทางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการออกเอกสารสำคัญ สนับสนุนตั๋วเครื่องบินสำหรับการเดินทาง รวมทั้งดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสถานะของการขอลี้ภัย สำหรับอุปสรรคและสิ่งที่ต้องกังวลในการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองนั้น กลุ่มตัวอย่างมีอุปสรรคในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมที่ต้องมีการปรับตัว และการลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสกลุ่มตัวอย่างผู้ลี้ภัยทั้งหมดสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย