Abstract:
การอนุมัติ "หลักสามประการว่าด้วยการถ่ายโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ" ค.ศ. 2014 เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการประกาศแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติโดยรัฐบาลอาเบะ เพื่อผ่อนปรนข้อจำกัดและขยายขอบเขตการส่งออกถ่ายโอนยุทโธปกรณ์ให้สอดรับกับนโยบายสันติภาพเชิงรุก และตอบสนองต่อสภาวการณ์ความมั่นคงปัจจุบัน สารนิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า การปรับนโยบายการส่งออกยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของญี่ปุ่นไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการอนุมัติหลักสามประการฯ ค.ศ. 2014 นั้นตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นอย่างไร ผลการศึกษาพบว่า การส่งออกยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่นไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการผสมผสานทั้งการถ่ายโอนแบบให้เปล่าและการเสนอขายตามปกติ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์ผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพ และการแลกเปลี่ยนทางการทหารที่เกี่ยวเนื่องกับยุทโธปกรณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นนัยยะในการเสริมสร้างความมั่นคงของญี่ปุ่นด้วยการดำเนินนโยบาย "การประกันความเสี่ยง" หรือ Hedging โดยใช้การส่งออกยุทโธปกรณ์เป็นช่องทางหนึ่งในการขยายบทบาททางทหาร และสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่มีแนวคิดทางความมั่นคงร่วมกัน เพื่อเป้าหมายในการถ่วงดุลอิทธิพลจีนไม่ให้สั่นคลอนสภาวะที่เป็นอยู่ในภูมิภาค และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรับมือกับความไม่แน่นอนของพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น