Abstract:
การศึกษาวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบขั้นตอนการสรรหาและจัดรับพนักงานและเหตุผลที่เปลี่ยนขั้นตอนการสรรหาและจัดรับพนักงานผ่านระบบสารสนเทศ 2) การสรรหาและจัดรับพนักงานผ่านระบบสารสนเทศมีประสิทธิผลมากขึ้นหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ หน่วยงานสรรหาและจัดรับพนักงาน สังกัดทรัพยากรบุคคล หน่วยงานลูกค้าธุรกิจรายปลีกและหน่วยงานลูกค้าธุรกิจรายกลาง เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) โดยนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ข้อมูลเรียบเรียงใหม่ในเชิงพรรณนาความ
ผลการวิจัยพบว่า 1) ขั้นตอนการสรรหาและจัดรับพนักงานแบบปกติมีขั้นตอนทั้งหมด 24 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลาทั้งกระบวนการโดยประมาณ 5 – 6 เดือน และขั้นตอนการสรรหาและจัดรับพนักงานผ่านระบบสารสนเทศมีขั้นตอนทั้งหมด 18 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลาทั้งกระบวนการโดยประมาณ 1.5 – 2 เดือน สรุปได้ว่าเหตุผลหลักที่เปลี่ยนขั้นตอน คือ ปัจจัยของระยะเวลานาน ไม่สามารถจัดรับพนักงานได้ตามปริมาณในเวลาที่กำหนด จึงทำให้หน่วยงานมีความพึงพอใจต่ำต่อฝ่ายบุคคล 2) การสรรหาและจัดรับพนักงานผ่านระบบสารสนเทศมีประสิทธิผลมากขึ้นจริง ดังนี้ บุคลากร มีการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ความสามารถของฝ่ายบุคคลให้เข้าใจธุรกิจหน่วยงานมากยิ่งขึ้น การออกแบบขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกเพื่อกระชับขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี ขั้นตอนการสรรหาและจัดรับพนักงานทุกขั้นตอนลงระบบสารสนเทศ เครื่องมือ เพิ่มการประเมินผลสัมภาษณ์ที่มีมาตรฐานเดียวกัน สรุปได้ว่าประสิทธิผลจากการเปลี่ยนขั้นตอนการสรรหาและจัดรับพนักงานนั้นทำให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องคุณภาพการทำงานของฝ่ายบุคคล คุณภาพของกระบวนการ คุณภาพของเครื่องมือในการสัมภาษณ์และคุณภาพของผู้สมัครที่มีความเหมาะสมกับงาน ทำให้หน่วยงานได้พนักงานเข้ามาทำงานทันกำหนดตามปริมาณที่ต้องการ อีกทั้งเปลี่ยนขั้นตอนให้กระชับ ทำให้ระยะเวลาในการสรรหาและจัดรับพนักงานเร็วขึ้น หน่วยงานจึงมีความพึงพอใจต่อฝ่ายบุคคลมากขึ้นเช่นกัน