Abstract:
ศึกษาบทบาทของกลุ่มชนข่าที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทยและลาว โดยเน้นศึกษา “กบฏข่า” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชนชั้นนำสยามขยายอำนาจไปยังดินแดนล้านช้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 จนถึง พ.ศ. 2436 พบว่า หลังจากที่ชนชั้นนำสยามได้เปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อเป็นแบบตะวันตก มองตนเองเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ชนชั้นนำสยามก็ได้พยายามลอกเลียนอาณานิคมตะวันตก ทำการขยายอำนาจไปยังท้องถิ่นเพื่อสร้างอาณานิคมของสยามขึ้น โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อล้านช้างจาก “หัวเมืองประเทศราช” ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “พระราชอาณาเขตสยาม” ชนชั้นนำสยามได้รับการตอบรับจากชนชั้นนำลาวในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ขณะที่กลุ่มชนข่าซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในล้านช้างกลับตรงกันข้าม พวกเขาทำการต่อต้านชนชั้นนำสยามและลาว โดยให้ความร่วมมือกับฮ่อที่เข้ามารุกรานล้านช้าง จากนั้นคนข่าจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งขบวนการกบฏของตนเองขึ้นเรียกว่า “ข่าเจือง” เพื่อเคลื่อนไหวปลดปล่อยชนพื้นเมืองให้เป็นอิสระจากการปกครองของสยามและลาว โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การจัดตั้งรัฐอิสระของกลุ่มชนพื้นเมืองขึ้น ในท้ายสุด “ข่าเจือง” ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ปฏิกริยาการตอบโต้ของพวกเขาก็ส่งผลทำให้ชนชั้นนำลาวในท้องถิ่นอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก และชนชั้นนำสยามเองก็ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริงในดินแดนชายขอบของล้านช้าง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นนำสยามต้องพ่ายแพ้แก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ระหว่างปี พ.ศ. 2434-2436