Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีศึกษาถึงมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองพยานในคดีอาญาเพื่อหา แนวทางที่เหมาะสมในการกำหนดเป็นมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานที่เป็นข้าราชการ โดย ศึกษามาตรการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ประกอบกับศึกษา เทียบเคียงกับระบบคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ (WHISTLEBLOWER PROTECTION) และกฎหมายคุ้มครองพยานในต่างประเทศจากการศึกษาพบว่ามาตรการคุ้มครองพยานทั้งมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษที่ กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ยังไม่เพียงพอในการที่จะให้ ความคุ้มครองแก่พยานบุคคลที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการ เนื่องจากข้าราชการเป็นบุคคลที่มี ตำแหน่งหน้าที่ที่แน่นอน หากต้องเข้าสู่โครงการคุ้มครองพยานแล้วไม่อาจเปลี่ยนภูมิลำเนา เปลี่ยน ชื่อหรือเปลี่ยนอาชีพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตในวงราชการซึ่งพยานสำคัญ ในคดีส่วนใหญ่ล้วนเป็นข้าราชการ การคุ้มครองพยานตามมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษพบว่า ยังมีปัญหาบางประการ อาทิ ปัญหาเกี่ยวกับการจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย ปัญหาเกี่ยวกับ การย้ายที่อยู่การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลและการดำเนินการเพื่อให้มีอาชีพที่เหมาะสม ดังนั้น สมควร กำหนดมาตรการพิเศษขึ้นมาเสริมเพื่อให้มีมาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองพยานที่เป็นข้าราชการ โดยให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานคุ้มครองพยานกับสำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประสานงานกรณีที่พยานในคดีอาญาเป็นข้าราชการ นอกจากนี้ ควรจะมีการให้ความรับรองแก่พยานว่าจะไม่ถูกย้ายงานหรือลดตำแหน่งงานอันเนื่องมาจากการ หยุดงานเพื่อไปเป็นพยาน และพยานจะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างแรงงาน เต็มจำนวนในช่วงเวลาที่ เป็นพยาน นอกจากนี้ควรนำระบบคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ (WHISTLEBLOWER PROTECTION) มาปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมเพื่อให้การ คุ้มครองพยานที่เป็นข้าราชการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าต่อกระบวนการยุติธรรมต่อไป