Abstract:
การก่อหนี้สาธารณะเป็นเครื่องมือทางการคลังรูปแบบหนึ่งของฝ่ายบริหารที่ใช้หารายได้ประเภทรายรับทำให้ความสามารถนำเงินที่ได้มาใช้จ่ายในด้านต่างๆ แต่อย่างไรก็ดีการก่อหนี้สาธารณะย่อมส่งผลให้ต้องมีการชำระหนี้คืนในภายหลังอันเป็นภาระสาธารณะต่อประชาชนผู้เสียภาษี ดังนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติจึงควรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมและพิจารณาอนุมัติการกู้เงินทั้งในและต่างประเทศของรัฐบาล วิทยานิพนธ์นิพนธ์นี้จึงมุ่งศึกษาถึงข้อจำกัดทางกฎหมายการคลังมหาชนของฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมการก่อหนี้สาธารณะ จากการศึกษาพบว่า รัฐสภาในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติมีข้อจำกัดในการควบคุมการก่อหนี้สาธารณะ อันเนื่องมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ 1. ความไม่เหมาะสมของเนื้อหาของบทบัญญัติงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติงบประมาณของรัฐสภา กล่าวคือ บทบัญญัติงบประมาณให้ความสำคัญกับการอนุมัติงบประมาณรายจ่าย จนขาดความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและรายจ่าย และในขณะเดียวกันไม่ได้ไม่ได้มีบทบัญญัติพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้สาธารณะ แต่มีบทบัญญัติกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ในการก่อหนี้สาธารณะและใช้จ่ายเงินนอกระบบวิธีการงบประมาณ 2.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบหนังสือหรือสัญญาต่างประเทศกระทำได้เฉพาะเงื่อนไข มาตรา 224 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่จำกัดเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของสถานะหนี้สาธารณะได้อย่างชัดเจน และอาจเกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไว้หลายกรณี นับตั้งแต่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการคลังที่เกี่ยวข้อง และเสนอร่างพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของรัฐสภาในการทำความตกลงระหว่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศ พ.ศ.... รวมทั้งกลไกและวิธีการที่ใช้ในการควบคุมการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลโดยรัฐสภาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น