Abstract:
การศึกษาผลกระทบของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในจังหวัดสระบุรี มีวัตถุประสงค์หลักคือ ศึกษาผลกระทบอันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขผลกระทบในทางลบ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาคสนามพื้นที่กรณีศึกษา 2 บริเวณ คือ กลุ่มแก่งคอย-มวกเหล็ก และกลุ่มเขาวง-หน้าพระลานและข้อมูลที่มีการศึกษาและรวบรวมไว้ จากนั้นประยุกต์ใช้แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมากำหนดแนวทางป้องกันแก้ไขและใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมต่อไป ผลการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในพื้นที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีผลต่อการสูญเสียทรัพยากรแหล่งแร่ เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจนพื้นคืนมาใช้ประโยชน์ได้ยาก และคุณภาพอากาศมีปัญหาด้านฝุ่นละออง ทั้งหมดที่กล่าวเป็นผลกระทบหลัก ส่วนผลกระทบรองได้แก่ การเพิ่มขึ้นของปริมาณการจราจร การลดลงของพื้นที่ป่าไม้และแหล่งต้นนํ้าลำธาร การเปลี่ยนระบบนิเวศน์และสภาพภูมิประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการการใช้ที่ดินในระยะยาว และเพิ่มความเจ็บป่วยในโรคที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อาทิ โรคระบบหายใจ โรคผิวหนัง และอุบัติเหตุ ผลกระทบดังกล่าวจะมีระดับรุนแรงในบริเวณแหล่งผลิต และบริเวณโดยรอบในรัศมีประมาณ 2 กิโลเมตร ในการศึกษาครั้งนี้ จึงเสนอว่า ในจังหวัดสระบุรีควรชลอการผลิตและในระยะยาวควรหยุดพัฒนาแหล่งผลิตอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างใหม่ พร้อมเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขผลกระทบไว้ 4 ประการคือ - กำหนดแนวกันชนจากแหล่งผลิตในรัศมีประมาณ 2 กิโลเมตร - พื้นฟูสภาพพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองเป็นแหล่งนํ้าใช้สอย สวนสาธารณะ ขยายชุมชน ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือปล่อยให้มีการพื้นฟูตามธรรมชาติ - กำหนดแหล่งผลิตไว้เฉพาะกลุ่มเขาวง-หน้าพระลานและกลุ่มแก่งคอย-มวกเหล็ก - ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเชิงกายภาพ อาทิ การเบี่ยงพื้นที่หน้าเหมือง การเลือกเส้นทางขนส่งแร่