Abstract:
พระราชนิพนธ์ภาษาบาลี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แบ่งออกเป็น ๗ ประเภท คือ บันทึก จดหมายเหตุ ตำนาน-พงศาวดาร คาถาพระราชทานพระนามพระโอรสธิดา จารึก สาส์น และบทสวดมนต์ ผลของการศึกษาพบว่าพระราชนิพนธ์มีความหลากหลายในด้านรูปศัพท์ รูปประโยค วิธีการแต่ง แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ตามลักษณะการประพันธ์ คือร้อยแก้วและร้อยกรอง ร้อยแล้วนั้นแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑. พระราชนิพนธ์ บันทึก จดหมายเหตุ ภาษาในงานนี้เป็นภาษาที่ไม่สละสลวยมากนัก ทรงมุ่งเน้นเนื้อเรื่องมากกว่าความสวยงามทางภาษา นอกจากนี้ยังพบว่าทรงผูกศัพท์วิสามัญนามใหม่ ๔ วิธี คือ ๑ . ใช้คำไทยผสมกับบาลี ๒. แปลคำไทยเป็นภาษาบาลี ๓. แปลศัพท์บาลี-สันสกฤตในไทยให้เป็นบาลี ๔.ภาษาต่าง ประเทศเลียนเสียงและรูปภาษาบาลี รูปแบบการเรียงวากยสัมพันธ์ไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก กลุ่มที่ ๒.พระราชนิพนธ์ พระสมณสาส์น ภาษาในงานนี้ประกอบด้วยรูปศัพท์ยาวๆ และวางลำดับวากยสัมพันธ์สลับไปมา มีรูปประโยคเป็นกรรมวาจก ส่วนงานประเภทร้อยกรองนั้นแบ่งลักษณะการใช้ภาษาออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ ๑. พระราชนิพนธ์ บทสวดมนต์ ภาษาในบทสวดมนต์นั้นงดงามด้วยรูปศัพท์เสียงไพเราะความหมายลึกซึ้ง คำใดที่เป็นศัพท์ธรรม ก็ทรงใช้วิธีอุปมาให้ชัดเจน เข้าใจง่ายขึ้น การวางรูปประโยคสละสลวย และใช้ศัพท์หลากหลาย ๒. พระราชนิพนธ์ประเภทร้อยกรองอื่นๆ มีลักษณะภาษาใกล้เคียงกับภาษาในร้อยแก้ว เพราะเน้นเรื่องราวที่เป็นจริงในประวัติศาสตร์ และตำนานความเป็นมา การใช้ภาษาที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ คือ ลักษณะการใช้คำซ้ำ ซึ่งพบทั้งงานร้อยแล้วและร้อยกรอง เนื้อหาทุกตอนทรงเน้นประโยคเหตุ-ประโยคผล หมายถึงการแต่งในรูปประโยค ย-ต หรือทรงใช้รูปประโยคอุปมาอุปมัย ทำให้ความหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น