Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปฏิกิริยาทางจิตที่เกิดขึ้นจากการลิดรอนเสรีภาพแบบบุคคลและแบบสถานการณ์กับความสำนึกในตนเองแบบบุคคล กลุ่มตัวอย่าง คือ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี จำนวน 160 คน กลุ่มตัวอย่างผ่านการคัดเลือกเป็นกลุ่มที่มีความสำนึกในตนเองแบบบุคคลสูง (HP) 80 คน ชาย 40 คน และหญิง 40 คน และกลุ่มที่มีความสำนึกในตนเองแบบบุคคลต่ำ (LP) 80 คน ชาย 40 คน และหญิง 40 คน รูปแบบการทดลองแบบ 2 ความสำนึกในตนเองแบบบุคคล คือ สูงและต่ำ x5 เงื่อนไขการลิดรอนเสรีภาพ คือ แบบบุคคลขัดขวางทางเลือกที่ต้องการน้อย (PR-NO) แบบบุคคลสนับสนุนทางเลือกที่ต้องการมาก (PR-YS) แบบสถานการณ์ขัดขวางทางเลือกที่ต้องการน้อย (ST-NO) แบบสถานการณ์สนับสนุนทางเลือกที่ต้องการมาก (ST-YS) และเงื่อนไขควบคุม หรือไม่มีการลิดรอนเสรีภาพ (CT) แต่ละกลุ่มมีผู้ร่วมการทดลอง 16 คน กลุ่มตัวอย่างประมาณค่าความชอบต่อสมุด 4 แบบ 2 ครั้ง หลังการประมาณค่าความชอบต่อสมุดครั้งที่ 1 ผู้ดำเนินการทดลองบอกกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดว่าจะให้ประมาณค่าความชอบต่อสมุดอีก 1 ครั้ง และให้เลือกสมุด 1 เล่มเป็นของตอบแทน โดยให้ผู้ร่วมการทดลองนัดหมายเวลาและสถานที่ที่สะดวกในอีก 2 วัน ก่อนการประมาณค่าความชอบต่อสมุดครั้งที่ 2 ผู้ดำเนินการทดลองบอกเหตุผลในการลิดรอนเสรีภาพตามเงื่อนไขการทดลอง ยกเว้นเงื่อนไขควบคุม แล้วให้ทั้งหมดทำมาตรวัดเจตคติต่อผู้ดำเนินการทดลองวัดปฏิกิริยาทางจิตจากคะแนนการประมาณค่าความชอบต่อสมุดที่ถูกลิดรอนเสรีภาพที่เปลี่ยนแปลงระหว่างครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า 1. นิสิตในเงื่อนไข HP-PR มีปฏิกิริยาทางจิตมากกว่านิสิตในเงื่อนไข LP-PR 2. นิสิตในเงื่อนไข HP-PR มีปฏิกิริยาทางจิตไม่แตกต่างจากนิสิตในเงื่อนไข LP-ST 3. นิสิตในเงื่อนไข HP-ST มีปฏิกิริยาทางจิตไม่แตกต่างจากนิสิตในเงื่อนไข LP-PR และ LP-ST 4. นิสิตในเงื่อนไข HP-PR มีปฏิกิริยาทางจิตไม่แตกต่างจากนิสิตในเงื่อนไข HP-ST และ HP-CT 5. นิสิตในเงื่อนไข LP-PR มีปฏิกิริยาทางจิตมากกว่านิสิตในเงื่อนไข LP-ST 6. นิสิตในเงื่อนไข LP-PR มีปฏิกิริยาทางจิตไม่แตกต่างจากนิสิตในเงื่อนไข LP-CT 7. นิสิตในเงื่อนไข HP-PR-NO มีปฏิกิริยาทางจิตไม่แตกต่างจากนิสิตในเงื่อนไข HP-PR-YS 8. นิสิตในเงื่อนไข LP-PR-NO มีปฏิกิริยาทางจิตมากกว่านิสิตในเงื่อนไข LP-PR-YS 9. นิสิตในเงื่อนไข HP-CT และ LP-CT ประมาณค่าความชอบต่อสมุดอันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่แตกต่างกัน