Abstract:
Bacillus sp. S11 ที่ใช้เป็นโพรไบโอติกในการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำสามารถสร้างสารต้านจุลชีพได้ในระยะ log phase ของการเจริญ ภาวะการเลี้ยงที่เหมาะสมต่อการสร้างสารนี้คือ การใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่ประกอบด้วย สารสกัดจากยีสต์ 2% (น้ำหนัก/ปริมาตร) ไดโพแทสเซียมฟอสเฟต 0.25% (น้ำหนัก/ปริมาตร) pH ของอาหารเลี้ยงเชื้อเริ่มต้นที่ 7.0 ใช้ปริมาณหัวเชื้อตั้งต้นที่ 2.0% (ปริมาตร/ปริมาตร) อุณหภูมิในการเพาะเลี้ยง 40 องศาเซลเซียส บนเครื่องเขย่า 200 รอบต่อนาที สารต้านจุลชีพที่ได้ถูกนำให้บริสุทธิ์ตามขั้นตอนดังนี้ ตกตะกอนด้วย 0-30% แอมโมเนียม ซัลเฟต ผ่านคอลัมน์ Sephadex G-50 และผ่าน DEAE-Sephadex ให้ค่า specific activity เพิ่มขึ้นจากที่มีในน้ำหมัก 29.10 AU/mg protein เป็น 52.63, 75.36 และ 95.23 AU/mg protein ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ด้วย SDS-PAGE พบว่าสารนี้มีมวลโมเลกุลประมาณ 3.5 kDa และมี lipid เป็นองค์ประกอบ สารนี้สามารถทนความร้อนที่อุณหภูมิ 70 และ 80 องศาเซลเซียส ได้ 15 นาทีและถูกทำลายหมดภายในเวลา 60 นาที เมื่อเก็บไว้ที่ 100 องศาเซลเซียส แอคติวิตีของสารหมดไปภายใน 10 นาที และตรวจไม่พบแอคติวิตีของสารนี้หลังผ่านการซึ่งฆ่าเชื้อ 121 องศาเซลเซียส 20 นาที สารนี้ให้แอคติวิตีได้ในช่วง pH ตั้งแต่ 3-10 และปริมาณโซเดียมคลอไรด์ 0-5% (น้ำหนัก/ปริมาตร) ไม่มีผลต่อแอคติวิตี ภายหลังจากการบำบัดด้วยเอนไซม์ protease, alpha-amylase และ lipase พบว่า protease ทำให้แอคติวิตีของสารนี้ลดลงในขณะที่เอนไซม์อีกสองชนิดไม่มีผลต่อแอคติวิตีของสารต้านจุลชีพนี้