Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาความเป็นจริงต่อการกำกับตนเองในการเรียนของนักศึกษาพยาบาล โดยมีสมมติฐานการวิจัยคือ หลังการทดลองนักศึกษาพยาบาลที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาความเป็นจริงจะมีคะแนนการกำกับตนเองในการเรียนสูงกว่าก่อนเข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มและสูงกว่ากลุ่มนักศึกษาพยาบาลที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมทดสอบก่อนและหลังการทดลอง(Pretest-Posttest Control Group Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาพยาบาลปีที่1 วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรีอ จำนวน 16 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยพิจารณาจากผู้ที่มีคะแนนการกำกับตนเองในการเรียนตํ่ากว่าเปอร์เชนต์ไทล์ที่ 25 และสุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 8 คน กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาความเป็นจริงทั้งหมด 8 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน สัปดาห์ละ 2-3ครั้ง ครั้งละ 2.30 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ชั่วโมง โดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบวัดการกำกับตนเองในการเรียนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนการกำกับตนเองในการเรียนด้วยวิธีการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า (1) หลังการทดลอง นักศึกษาพยาบาลที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาความเป็นจริงมีคะแนนการกำกับตนเองในการเรียนสูงกว่าก่อนเข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มและสูงกว่านัทศึกษาพยาบาลที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (2) หลังการทดลอง นักศึกษาพยาบาลที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาความเป็นจริงมีคะแนนการกำกับตนเองในการเรียนโดยกลวิธีที่ใช้ทางปัญญาด้านการประเมินตนเอง การจัดการและการปรับเปลี่ยนการตั้งเป้าหมายและการวางแผน การจัดสภาพแวดล้อม การคำนึงถึงผลที่ตามมาจากการกระทำของตนเอง การท่องจำและการจดจำ การขอความช่วยเหลือจากสังคม การทบทวนจากบันทึกต่างๆ และการเชื่อมโยงสูงกว่านักศึกษาพยาบาลที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (3) หลังการทดลอง นักศึกษาพยาบาลที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาความเป็นจริงมีคะแนนการกำกับตนเองในการเรียนโดยการกำกับตนเองด้านเมตาคอคนิชั่นสูงกว่านักศึกษาพยาบาลที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 .