Abstract:
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐ และให้ความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการ ไม่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต่อผู้อื่น อย่างไรก็ตาม โดยที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นกฎหมายใหม่และเป็น หลักการใหม่ในการปฏิบัติราชการของประเทศไทย ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายจึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ ซึ่งปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และจากข้อหารือของส่วนราชการต่างๆ ก็คือ ปัญหาการวินิจฉัยว่าข้อมูลข่าวสารใดเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลหรือไม่ ถ้าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลจะสามารถเปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด กรณีเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายหรือไม่ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง จากรายงานสรุปการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประจำปี 2542 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ พบว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ขาดทักษะในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะใน เรื่องกระบวนการและวิธีการใช้ดุลพินิจตามกฎหมาย ซึ่งปีญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทางด้านข้อมูลข่าวสารได้โดยง่าย ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่กล่าวมา โดยศึกษากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และนิวซีแลนด์ ตลอดจนหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และหลักความได้สัดส่วน พบว่า การนำเอาหลักกฎหมายของต่างประเทศและ หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวทางในการตีความและบังคับใช้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ และนำเอาหลักความได้สัดส่วนมาเป็นหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล จะช่วยให้สามารถคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลทางด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย