Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงลักษณะ ขนาด การกระจายตัว และแนวโน้มของแหล่งอุตสาหกรรมในเขตเมืองนครราชสีมา การเปลี่ยนแปลงของเมืองนครราชสีมาและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนวิเคราะห์แนวโน้มการขยายตัวของเมือง และเสนอแนะแนวทางการจัดระเบียบและกำหนดย่านสำหรับอุตสาหกรรมบริเวณชานเมืองนครราชสีมาให้สอดคล้องสัมพันธ์กับการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานบริเวณชานเมืองโดยรวม ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเมืองนครราชสีมามี 2 ลักษณะ คือ ( 1 ) ย่านอุตสาหกรรมริมทางหลวง ( Ribbon or Spontaneous Development ) ( 2 ) ย่านอุตสาหกรรมที่มีการวางแผน (Planned Industrial Areas) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมที่ทำการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกที่ตั้ง ได้แก่ ปัจจัยด้านการคมนาคม ปัจจัยทางด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โดยพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับต้นๆ ได้แก่ พื้นที่ตำบลสุรนารี ตำบลหนองระเวียง และตำบลหนองบัวคาลา ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรที่เคยมีความสำคัญในอดีต ปัจจุบันเริ่มมีจำนวนและความสำคัญลดลง โดยมีอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาแทนที่ เช่น อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก อุตสาหกรรมโลหะและอโลหะ และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิก ในการศึกษาครั้งนี้เสนอให้กำหนดพื้นที่เบื้องหลังทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 ( ราชสีมา-โชคชัย ) บริเวณ ต. หนองระเวียง เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมที่จะได้รับการสนับสนุนตามแผนพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พร้อมทั้งการกำหนดพื้นที่กันชนระหว่างเขตอุตสาหกรรมและชุมชนที่อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมและป้องกันปัญหามลพิษจากกระบวนการผลิต