Abstract:
เชื้อ Klebsiella pneumoniae ที่สร้างเอนไซม์ carbapenemases (KPCs) เป็นปัญหาสำคัญของการติดเชื้อในโรงพยาบาลโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากมักดื้อยาหลายขนาน ทำให้มียาที่ใช้รักษาได้จำกัด เป็นสาเหตุทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคนิค multiplex Recombinase Polymerase Amplification (multiplex RPA) สำหรับตรวจหายีนที่สร้างเอนไซม์ carbapenemase ของเชื้อ K. pneumoniae และเปรียบเทียบความไวและความจำเพาะกับ วิธี Modified Carbapenem Inactivation Method Test (mCIM) และ วิธี nucleotide sequencing กับตัวอย่างเชื้อ K. pneumoniae ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ธันวาคม 2018 โดยเก็บเชื้อที่ผลการคัดกรองพบดื้อยา carbapenem แบ่งเป็นจาก perianal ในงานเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา จำนวน 129 ตัวอย่าง และจากสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยเด็ก จำนวน 21 ตัวอย่าง พบให้ผลบวกกับวิธี mCIM จำนวน 149 ตัวอย่าง (99.3%) และพบเป็นยีน blaNDM-1 สูงสุดถึงร้อยละ 89.3 รองลงมาคือยีน blaOXA-232 ร้อยละ 8 และยีน blaNDM-1 ร่วมกับ blaOXA-232 ร้อยละ 2 ตามลำดับ เชื้อที่แยกได้จากสิ่งตรวจพบมีการดื้อยาหลายขนาน โดยดื้อยา carbapenem ร่วมกับ gentamicin, trimethoprim/sulfamethoxazole, ciprofloxacin ขณะที่เชื้อที่แยกจากแผนกผู้ป่วยต่าง ๆ ในงานเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา พบการแพร่กระจายของยีน blaNDM-1 สูงสุดใน 4 แผนก จาก 9 แผนก การพัฒนาเทคนิค multiplex RPA พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณยีน blaKPC, blaNDM, blaOXA–48-like, blaIMP, blaVIM ที่ 37 °C ภายในเวลา 25 นาที ขีดจำกัดต่ำสุดในการตรวจยีน blaNDM, blaVIM, blaOXA–48-like เท่ากับ 1 ng ยีน blaIMP เท่ากับ 10 ng blaKPC เท่ากับ 0.1 ng ไม่เกิดปฏิกิริยาข้ามกลุ่มกับ Pseudomonas aeruginosa, Acinetobacter baumannii, Proteus mirabilis, Staphylococcus aureus, Streptococcus pneumoniae, Streptococcus pyogenes, Haemophilus influenzae และ Enterococcus faecalis มีความไวและความจำเพาะในการตรวจหายีน blaNDM ร้อยละ 100 (95%CI: 97.34%-100.00% และ 95%CI: 75.29%-100.00%) และ blaOXA–48-like ร้อยละ 100 (95%CI: 78.20%-100.00% และ 95%CI: 97.30%-100.00%) มีค่าความสอดคล้องในระดับดีมาก (k=1) เมื่อเปรียบเทียบกับวิธี mCIM และ วิธี nucleotide sequencing ดังนั้นเทคนิค multiplex RPA ที่พัฒนาขึ้นเป็นเทคนิคที่ใช้ระยะเวลาในการทดสอบที่รวดเร็ว สามารถนำไปใช้ในการตรวจชนิดยีนที่สร้างเอนไซม์ carbapenemase ในห้องปฏิบัติการที่ไม่มีเครื่องมือเฉพาะทางอณูชีววิทยาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุม การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา carbapenemase resistance Klebsiella pneumoniae ได้อย่างมีประสิทธิภาพ