Abstract:
พื้นที่โล่งเป็นองค์ประกอบหลักที่มีความสำคัญต่อเมืองในหลายด้าน ภายใต้การพัฒนาที่เข้มข้นในย่านพาณิชยกรรม พื้นที่โล่งจึงเป็นทรัพยากรที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกเบียดบัง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับโครงข่ายพื้นที่โล่งในย่านพาณิชยกรรมศึกษาบริเวณถนนสาทร-สีลม-สุรวงศ์อันเป็นเสมือนหัวใจของเมืองในปัจจุบัน มีประชากรและกิจกรรมที่หนาแน่นภายใต้อุปทานพื้นที่โล่งที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นในการสืบค้นและการขยายความเข้าใจในประเด็นสภาพการใช้ประโยชน์ที่เกิดข้นึ ภายใต้สภาพทางกายภาพของโครงข่ายพื้นที่โล่งของย่านฯ โดยพื้นฐานแล้วการศึกษานี้เป็นการศึกษาในเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการสำรวจและสังเกตการณ์ พร้อมทั้งการค้นคว้าในส่วนของวิวัฒนาการและสภาพทั่วไปของย่านฯในปัจจุบัน เพื่อนำมาเชื่อมโยงในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรพื้นที่โล่งดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาพบว่า ย่านฯมีวิวัฒนาการมากว่า 100 ปี โดยเปลี่ยนแปลงบริบทจากพื้นที่เกษตรกรรมสู่ย่านพักอาศัยชั้นดี จนกลายมาเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมระดับประเทศ ส่งผลให้ในปัจจุบันย่านฯมีความเข้มข้นและหลากหลายในทุกทางทั้งในด้านการใช้ที่ดิน กายภาพ ประชากร รวมทั้งลักษณะทางกายภาพของโครงข่ายพื้นที่โล่งด้วย แม้ในปัจจุบันย่านฯ จะมีสัดส่วนของพื้นที่โล่งในระดับสูง แต่นอกเหนือจากพื้นที่เขตทางแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่โล่งที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ที่ดินพักอาศัยซึ่งถูกกั้นออกจากพื้นที่โดยรอบ โดยส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่โล่งที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ที่ดินพาณิชยกรรมก็มีขนาดเล็กและมีอยู่อย่างจำกัด โดยสรุปแล้ว โครงข่ายพื้นที่โล่งของย่านฯไม่สามารถเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในการรองรับอุปสงค์ในระดับสูงและหลากหลายอันเกิดจากประชากรกลุ่มต่างๆ ภายในย่านฯ ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมจำเป็น มีรูปแบบที่ไม่หลากหลาย จำกัดอยู่ในช่วงเวลากลางวันของวันทำงานและในพื้นที่ทางตอนเหนือของย่านฯเป็นสำคัญ สภาพการใช้ประโยชน์ดังกล่าว่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยมีปัจจัยในด้านสภาพที่ตั้ง ความต่อเนื่องของพื้นที่ องค์ประกอบดึงดูดหลัก ขนาดพื้นที่ ร่มเงาและแสงสว่าง เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ในการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่โล่งของย่านฯในอนาคต ผู้วิจัยได้เสนอแนะให้พิจารณาถึงการพัฒนาโครงข่ายกิจกรรมที่สมบูรณ์ทั้งในมิติของพื้นที่และเวลา มากกว่าที่จะมุ่งเน้นในการพัฒนาลักษณะทางกายภาพเพียงผิวเผิน ทั้งนี้โดยแบ่งออกเป็นการพัฒนาใน 3 ส่วน คือ การพัฒนาพื้นที่รองรับกิจกรรมหลัก พื้นที่รองรับกิจกรรมรองในรูปแบบของ "ห้องนั่งเล่น กลางแจ้ง'’ และระบบการเชื่อมโยงโครงข่ายที่ดี สัมพันธ์กับแหล่งป้อนประชากรหลักภายในย่านฯ ทั้งนี้การพัฒนาต้องอาศัยทั้งการดำเนินการพัฒนาของรัฐโดยตรง การแสวงหาความร่วมมือกับเอกชน ตลอดจนการชี้นำการพัฒนาของเอกชนด้วย