Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการศึกษานายทุนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดระหว่างพ.ศ.2457-2482 นายทุนกลุ่มนี้เป็นชาวจีนอพยพเข้ามาทำธุรกิจการค้าในประเทศและได้เข้าควบคุมการค้าภายในของไทยมากกว่าร้อยละ 90 ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านายทุนกลุ่มนี้เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของชนชั้นนายทุนไทย จากการศึกษาพบว่านาย ทุนเชื้อสายจีนได้แสดงบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อทุนนิยมโลกกับสังคมไทย และเป็นผู้ผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขยายตัวเข้าสู่ชนบทไทย และกลายเป็นวิถีของชาวบ้านที่อาศัยในชนบท การรับบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างทุนนิยมโลกกับเมืองหลวง และเมืองหลวงกับชนบท ทำให้นายทุนไทยเชื้อสายจีนสามารถสะสมความมั่งคั่งขึ้นได้ ในกระบวนการเชื่อมโยงกับชนบท นายทุนมีข้อได้เปรียบสูงในการทำธุรกิจได้แก่ ความสามารถในการควบคุมตลาด และการได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่าชาวบ้านในชนบทข้อได้เปรียบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้นายทุนสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากชนบทได้มาก ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นลักษณะสำคัญของนายทุนไทยเชื้อสายจีนในระยะเวลาที่ศึกษา องค์กรการค้าในรูปสมาคม (guild; และสภาหอการค้า (chamber of commerce) มีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันให้ธุรกิจของนายทุนไทยเชื้อสายจีนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จทางการค้าเหนือกลุ่มอื่นๆ สมาคมการค้าของชาวจีนทำหน้าที่ทั้งปกป้อง ส่งเสริมธุรกิจการค้าของจีน ความคิดและจิตวิญญาณ (spirit) ของชนชั้นนายทุนเป็นประเด็นสำคัญในการทำความ เข้าใจชนชั้นนายทุนไทยเชื้อสายจีน นายทุนกลุ่มนี้เป็นชาวจีนอพยพที่ยังคงผูกพันอยู่กับแผ่นดินเกิดและครอบครัวที่เมืองจีน ขณะเดียวกันการเข้ามาทำธุรกิจและครอบครัวในเมืองไทยก็สร้างความผูกพันกับแผ่นดินไทยเช่นกัน ความคิดชาตินิยมจีนที่เกิดชื้นในหมู่ชาวจีน ตลอดจนความผูกพันกับแผ่นดินเกิด ส่งผลทั้งในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนแข่งขันกับทุนนิยมตะวันตก และญี่ปุ่นขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคต่อการสะสมทุนในประเทศไทย เงินทุนจำนวนมากถูกถ่ายโอนกลับแผ่นดินเกิด ทั้งการพัฒนาธุรกิจที่สามารถขยายเครือข่ายการค้าไปในชนบท การใช้องค์กรสมาคมช่วยจัดการการค้า และความคิดจิตวิญญาณของนายทุนที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนายทุน ทำให้นายทุนมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และพร้อมที่จะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเป็นนายทุนสมัยใหม่ ทำธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้น มีระบบการจัดการที่ทันสมัย เข้าร่วมกับทุนต่างชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2